คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน 1,800 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจริง พร้อมทั้งแจ้งว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งอยู่ที่ห้องพักของจำเลย และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นจนสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนซึ่งซุกซ่อนอยู่ในหม้อหุงข้าวไฟฟ้าได้อีก 30 เม็ด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย นับว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เห็นสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกกระทงละ 25 ปี และปรับกระทงละ 500,000 บาท รวมจำคุก 50 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลา 1 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดโดยมีเมทแอมเฟตามีน 1,830 เม็ด น้ำหนัก 183,570 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 27,879 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 1,800 เม็ด น้ำหนัก 180.510 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 27.414 กรัม ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อซึ่งเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยจำหน่ายเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดในแต่ละกระทงต้องด้วยบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต แต่ปรากฏจากพยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน 1,800 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจริงพร้อมทั้งแจ้งว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งอยู่ที่ห้องพักของจำเลย และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นจนสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนซึ่งซุกซ่อนอยู่ในหม้อหุงข้าวไฟฟ้าได้อีก 30 เม็ด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย นับว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เห็นสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 30 ปี และปรับ 400,000 บาท และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 30 ปี และปรับ 400,000 บาท ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 15 ปี และปรับ 200,000 บาท และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 15 ปี และปรับ 200,000 บาท รวมจำคุก 30 ปี และปรับ 400,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share