แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีสำนวนแรกโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้อาศัยออกจากที่พิพาท แม้ไม่ปรากฏตามคำฟ้องว่าที่พิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละเท่าใด แต่ก็ได้ความจากคดีในสำนวนหลังซึ่งมีผู้ฟ้องโจทก์คดีนี้กับพวกให้ร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์จากที่พิพาทเป็นเงินปีละ 2,400 บาท ถือได้ว่าที่พิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาทเมื่อจำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ หรือยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาอาศัย คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ ก็ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาได้ ข้อเท็จจริงคงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้บังคับคดีสำนวนแรกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงรับวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลัง (โจทก์ในสำนวนแรก) ซึ่งคดีไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงแต่เมื่อศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245, 247
คดีสำนวนแรกศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 (ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลัง) แต่ในคดีสำนวนหลังศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทเป็นของ พ.จำเลยที่ 1 (ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรก) ดังนี้ในคดีสำนวนหลังศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้สิทธิแก่ พ.จำเลยที่ 1 ในการที่จะฟ้องบังคับตามสิทธิที่เกิดขึ้นจากผลของคำพิพากษาฎีกานี้ต่อไป
ย่อยาว
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ ๒๕ ปี ก่อนฟ้อง โจทก์บุกเบิกถางป่าและครอบครองที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ขออาศัยปลูกกระท่อมในที่พิพาท บัดนี้โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอาศัยอยู่ในที่พิพาทต่อไปจึงแจ้งให้จำเลยรื้อกระท่อมออกไป แต่จำเลยไม่ยอมออก ขอศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อกระท่อมออกไปจากที่พิพาท และเพิกถอน ส.ค.๑ และ น.ส.๓ ด้วย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นของนางผึ้ง มารดาจำเลยที่ ๑ ซึ่งทางการออก น.ส.๓ ให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ จำเลยทั้งสองปลูกเรือนอาศัยอยู่ในที่พิพาทนายมาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิในที่พิพาท ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ ศาลอนุญาต
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทโดยบิดามารดายกให้ เมื่อประมาณ ๒ ปีก่อนฟ้อง จำเลยทั้งสองได้มาขออาศัยที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ทำกิน ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองทำกินต่อไปจึงแจ้งให้จำเลยรื้อเรือนออกไป แต่จำเลยไม่เชื่อฟัง กลับสมาคมกับจำเลยที่ ๓ นำรถมาไถที่พิพาทของโจทก์และหว่านข้าวลงไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกไป และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์เป็นเงินปีละ ๒,๔๐๐ บาทจนกว่าจำเลยจะออกจากที่พิพาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า เดิมที่พิพาทเป็นป่า จำเลยที่ ๑ บุกเบิกปลูกสร้างทำกินในที่พิพาทตลอดมา โจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้องกับที่พิพาทโจทก์ไปขอออก น.ส.๓ และโฉนดทับที่พิพาทจึงเป็นโมฆะ ค่าเสียหายสูงเกินไปส่วนจำเลยที่ ๓ นั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่พิพาท
ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันและให้เรียกโจทก์ในสำนวนคดีหลังว่าโจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ในสำนวนคดีแรกว่าโจทก์ที่ ๒ ส่วนโจทก์ในสำนวนคดีแรกเรียกว่าจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสามในสำนวนคดีหลังให้เรียกจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ เช่นเดิม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์ที่ ๑ ค่าเสียหายคิดเป็นเงิน ๒,๔๐๐ บาทต่อปี จำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้อง ขับไล่โจทก์ที่ ๒ จำเลยที่ ๒ แต่ผู้เดียวที่ไถที่ดินของโจทก์ที่ ๑ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่ได้เกี่ยวข้องและพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ที่ ๒ พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยปลูกไว้ออกจากที่พิพาท ให้จำเลยที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ ๑ เป็นเงินปีละ ๒,๔๐๐ บาทนับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จนกว่าจำเลยที่ ๒ จะออกจากที่พิพาท
นายพู ขุนลา จำเลยที่ ๑ (ซึ่งเป็นโจทก์คดีแรกและเป็นจำเลยที่ ๒ คดีหลัง)อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นายพู ขุนลา จำเลยที่ ๑ ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ในสำนวนแรกที่นายพู ขุนลา จำเลยที่ ๑ เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ ๒ ผู้อาศัยออกจากที่ดินจำเลยที่ ๑ และให้รื้อกระท่อมออกไป แม้ไม่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าที่พิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละเท่าใดแต่ก็ได้ความตามสำนวนหลังว่าที่พิพาทโจทก์ที่ ๑ เป็นโจทก์ฟ้องนายพู จำเลยที่ ๑ ให้ร่วมกับจำเลยอื่นใช้ค่าขาดประโยชน์เป็นเงินปีละ ๒,๔๐๐ บาท จึงถือได้ว่าที่พิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาท โจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวอ้างว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ที่ ๑ ในสำนวนหลัง ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ที่ ๒ โดยโจทก์ที่ ๒ ซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนแรกมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ หรือยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาอาศัยจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ ก็เป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรกจึงไม่มีสิทธิจะฎีกาต่อมาได้ คดีตามสำนวนแรกข้อเท็จจริงคงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรก คงรับวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของนายพู ขุนลา จำเลยที่ ๑ ในสำนวนหลัง ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วฟังว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ โจทก์ที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ ๑
พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ ในสำนวนหลังและให้มีผลถึงจำเลยที่ ๒ ซึ่งไม่ได้ฎีกาด้วย เพราะเป็นมูลกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕, ๒๔๗ ยกคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์และยกฎีกาจำเลยที่ ๑ ในสำนวนแรกโดยให้บังคับคดีสำนวนแรกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาให้จำเลยที่ ๑ ในสำนวนแรกทั้งหมดค่าทนายความในชั้นฎีกาในสำนวนแรกให้เป็นพับ สำนวนหลังค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่ ๑ ที่จะฟ้องขอให้บังคับตามสิทธิที่เกิดขึ้นจากผลของคำพิพากษาฎีกาต่อไป