คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2393-2394/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจหน้าที่และความรับผิดของการสื่อสารแห่งประเทศไทยในการขนไปรษณียภัณฑ์ต้องบังคับตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2515 และไปรษณียนิเทศพุทธศักราช 2520 มิใช่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จากข้อบังคับของไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 ข้อ 131, 141,143, 146 และ 147 สิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณียภัณฑ์รับประกันมีเฉพาะจดหมายรับประกัน ซึ่งจดหมายรับประกันนี้จะจดแจ้งราคาหรือไม่ก็ได้ การขอให้รับประกันจะขอให้รับประกันเกินกว่าราคาที่แท้จริงของสิ่งของที่บรรจุอยู่ไม่ได้และสิ่งของที่บรรจุอยู่หากมีราคามากกว่า 3,950 บาท ขอรับประกันได้ไม่เกิน 3,950 บาท
ความรับผิดของการสื่อสารแห่งประเทศไทยในการใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีไปรษณียภัณฑ์รับประกันแตกหักสูญหายต้องบังคับตามไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 ข้อ 141 ส่วนมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์พุทธศักราช 2477 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับไปรษณียภัณฑ์อื่นอันมิใช่จดหมายรับประกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทและห้างที่โจทก์รับประกันภัยสินค้าไว้ได้ส่งทับทิบและพลอยสีน้ำเงินเจียระไนไปให้ลูกค้าที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์โดยทางไปรษณีย์ของจำเลยที่ ๑ เสียค่าธรรมเนียมส่งไปรษณียภัณฑ์ต่างประเทศลงทะเบียนตอบรับ และได้แจ้งข้อเท็จจริงทั้งสิ่งของ น้ำหนักและราคาอันแท้จริงของสิ่งของที่บรรจุอยู่ภายในไปรษณียภัณฑ์ตามแบบพิมพ์ของจำเลยที่ ๑ ครบถ้วนตามระเบียบทุกประการ จำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๒ ให้ขนส่งไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวไปอีกทอดหนึ่ง ต่อมาปรากฏว่าสินค้าที่ส่งไปนั้นสูญหาย โจทก์จึงได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทและห้างตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิมา ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์รวมเป็นเงิน ๒,๑๑๖,๘๘๓.๑๕ บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า บริษัทและห้างได้ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ต่างประเทศลงทะเบียนตอบรับประเภทจดหมายรับประกันโดยขอรับประกันเป็นเงิน ๓,๙๕๐ บาท ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามที่กำหนดไว้ในไปรษณียนิเทศข้อ ๑๔๖ สินค้าที่อ้างว่าส่งไปจะมีจริงหรือไม่ จำเลยไม่ทราบตามระเบียบของจำเลยที่ ๑ ไม่จำต้องรับรู้ว่าผู้ฝากส่งจะบรรจุสิ่งของอะไร ไม่มีแบบพิมพ์ให้ผู้ฝากส่งเขียนแจ้งข้อเท็จจริงดังอ้างจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้รับขน เพราะระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ มิใช่เป็นการขนส่งหลายทอด จำเลยที่ ๒ ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ จำเลยที่ ๒ ได้ส่งมอบถุงไปรษณีย์ให้แก่ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางโดยเรียบร้อยไม่ชำรุดเสียหายจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินแก่โจทก์รวม ๘,๕๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ มิใช่ผู้ขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๖๐๙ การขนไปรษณีย์ภัณฑ์ของจำเลยที่ ๑ ให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้น ๆ ซึ่งมีพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ และพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นกฎหมายที่บัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ไว้ตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ ให้อำนาจจำเลยที่ ๑ ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการฝากส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ จำเลยที่ ๑ ได้ออกข้อบังคับในการฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ไว้เรียกว่าไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ดังนั้นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ในการขนไปรษณียภัณฑ์จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๙ และไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ซึ่งตามไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ข้อ ๑๓๑ ระบุว่า ไปรษณียภัณฑ์แบ่งออกเป็น ๕ ชนิด คือ จดหมาย ไปรษณียบัตร ของตีพิมพ์ พัสดุย่อย เครื่องอ่านสำหรับคนเสียจักษุ ข้อ ๑๔๑ ระบุว่า จดหมายรับประกัน คือ จดหมายต่างประเทศที่ทางการให้ความคุ้มครองรักษาเป็นพิเศษ หากของที่รับประกันสูญหายหรือเสียหายไปทั้งหมดหรือบางส่วนในระหว่างส่งทางไปรษณีย์เพราะความผิดของทางการ ทางการยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ตามราคาที่เป็นจริงของจดหมายรับประกันที่สูญหายหรือเสียหาย แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ขอรับประกันไว้ ข้อ ๑๔๓ ระบุว่า ไปรษณียภัณฑ์ชนิดอื่นๆไม่อนุญาตให้รับประกัน ข้อ ๑๔๖ ระบุว่า จำนวนเงินที่จะขอให้รับประกันอย่างสูงไม่เกิน ๓,๙๕๐ บาท หรือ ๕๐๐ แฟรงก์ทองต่อจดหมาย ๑ ฉบับและข้อ ๑๔๗ ระบุว่า ห้ามขอรับประกันเกินกว่าราคาแท้จริงของสิ่งที่บรรจุอยู่แต่จะขอรับประกันน้อยกว่าราคาแท้จริงก็ได้ ตามข้อบังคับของไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช ๒๕๒๐ จะเห็นว่าสิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณียภัณฑ์รับประกันมีเฉพาะจดหมายรับประกันเท่านั้น จดหมายที่ขอให้รับประกันจะจดแจ้งราคาหรือไม่ก็ได้การขอให้รับประกันจะขอให้รับประกันเกินกว่าราคาที่แท้จริงของสิ่งที่บรรจุอยู่ไม่ได้สิ่งของที่บรรจุอยู่หากมีราคามากกว่า ๓,๙๕๐ ขอรับประกันได้ไม่เกิน ๓,๙๕๐ บาท ข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ นี้ บริษัทสว่างเอ็กปอร์ต จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดนิวสยามลั้คกี้เยมส์ย่อมทราบดี เพราะได้ขอรับประกันเป็นเงิน ๓,๙๕๐ บาททั้งสองรายตามเอกสารหมาย จ.๖ จ.๗ และเมื่อฝากส่งแล้วผู้ฝากส่งได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์อีกทอดหนึ่งทันที เต็มตามราคาของสิ่งของที่ฝากส่ง อันเป็นการยอมรับแล้วว่าจำเลยที่ ๑ จำกัดความรับผิดเท่าที่รับประกันเท่านั้น และขอให้รับประกันได้ไม่เกิน ๓,๙๕๐ บาท และมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ บัญญัติให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ไปรษณียภัณฑ์รับประกันแตกหักสูญหายในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ ตามข้อบังคับที่ใช้อยู่ในเวลานั้น ความรับผิดของจำเลยที่ ๑ในการใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีที่ไปรษณียภัณฑ์รับประกัน(จดหมายรับประกัน) แตกหักสูญหายจึงต้องบังคับตามไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ข้อ ๑๔๑ ส่วนมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์พุทธศักราช ๒๔๗๗ เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับไปรษณียภัณฑ์อื่นอันมิใช่ไปรษณียภัณฑ์รับประกัน (จดหมายรับประกัน) กรณีของโจทก์ผู้ฝากส่งได้ฝากส่งประเภทไปรษณียภัณฑ์รับประกัน (จดหมายรับประกัน) โดยแจ้งขอรับประกันไปรษณียภัณฑ์ที่ฝากส่งแต่ละรายเป็นจำนวนเงิน ๓,๙๕๐ บาท กับเสียค่าธรรมเนียมการฝากส่งรายละ ๒๗๗ บาท และ ๒๙๓ บาท ค่าธรรมเนียมลงทะเบียนต่างประเทศรายละ ๕ บาท ค่าบริการไปรษณีย์ตอบรับรายละ ๕ บาท ค่าธรรมเนียมรับประกันรายละ ๒๐ บาท ตามใบรับเอกสารหมาย จ.๖ จ.๗ การที่ผู้ฝากส่งทั้งสองรายขอให้จำเลยที่ ๑ รับประกันไปรษณียภัณฑ์ของผู้ฝากส่งเป็นเงินรายละ ๓,๙๕๐ บาท เมื่อไปรษณียภัณฑ์สูญหายไป จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในไปรษณียนิเทศเท่าที่รับประกันไว้กับผู้ฝากส่งทั้งสองรายรวมกับค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้วเท่านั้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ ๒ มิได้รับขนส่งให้ผู้ฝากส่ง และกรณีมิใช่การขนส่งหลายทอด หากแต่จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ต้องขนส่งให้จำเลยที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช ๒๔๗๗ มาตรา ๔๘ ตามที่จำเลยที่ ๑ กำหนดให้ส่ง ทั้งมิได้รับแจ้งถึงสภาพและราคาของไปรษณียภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ในถุงไปรษณีย์ที่จำเลยที่ ๑ มอบให้ และไม่ปรากฏว่าสินค้าของผู้ฝากส่งสูญหายไปจากที่แห่งใด ถุงไปรษณียภัณฑ์ที่จำเลยที่ ๒ รับไป จำเลยที่ ๒ ได้ขนส่งไปถึงปลายทางในสภาพเรียบร้อย ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการขนจนเป็นเหตุให้ของหายจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน.

Share