แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์โจทก์ร่วมในข้อหาทำร้ายร่างกาย โจทก์ร่วมให้การรับสารภาพเนื่องจากโจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยหลังจากจำเลยใช้อาวุธมีดแทงโจทก์ร่วมแล้ว ซึ่งคดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้แยกฟ้องโจทก์ร่วมในข้อหาทำร้ายร่างกาย ศาลมีคำพิพากษาปรับโจทก์ร่วมแล้ว จึงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยในเหตุการณ์ที่จำเลยใช้มีดแทงโจทก์ร่วมในคดีนี้ โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายตามความหมายใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และทำให้ไม่มีอำนาจที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา 30 โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจยื่นฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 288 และริบมีดของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณานายพิเชษฐ์ พิรุณ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ริบมีดของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 69 จำคุก 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี รอการลงโทษตามมาตรา 56 ไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือน ในระยะเวลา 1 ปีแรก และทุก 3 เดือนในระยะเวลาที่เหลือ กับให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 12 ชั่วโมงในระยะเวลาหนึ่งปีแรก และห้ามเสพหรือเกี่ยวข้องกับสุราและยาเสพติดให้โทษทุกชนิด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายพิเชษฐ์ พิรุณ ด้วย
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้มีดปลายแปลงแทงนายพิเชษฐ์ พิรุณ โจทก์ร่วมได้รับอันตรายแก่กาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมมีส่วนในการกระทำผิดด้วยหรือไม่ พยานโจทก์มีโจทก์ร่วมเบิกความว่า ในเหตุการณ์เดียวกันกับที่จำเลยใช้มีดแทงโจทก์ร่วมนี้ จำเลยได้แจ้งความร้องทุกข์โจทก์ร่วมในข้อหาทำร้ายร่างกาย โจทก์ร่วมให้การรับสารภาพ เนื่องจากโจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยหลังจากจำเลยใช้อาวุธมีดแทงโจทก์ร่วมแล้ว ซึ่งคดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้แยกฟ้องโจทก์ร่วมในข้อหาทำร้ายร่างกาย ศาลมีคำพิพากษาปรับโจทก์ร่วมเป็นเงิน 500 บาท ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำผิดทำร้ายร่างกายจำเลยในเหตุการณ์ที่จำเลยใช้มีดแทงโจทก์ร่วมในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) และทำให้ไม่มีอำนาจที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตามมาตรา 30 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจยื่นฎีกา”
พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์ร่วม