คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4944/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลมีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยซึ่งศาลจะขยายระยะเวลาให้ตามคำร้องหรือไม่เป็นดุลพินิจที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาติดต่อกันรวม 3 ครั้ง โดยทุกครั้งจะอ้างเหตุผลทำนองเดียวกันว่า ทนายความจำเลยที่ 1 จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของคำพยานและเอกสารในสำนวน รวมทั้งต้องทำคำฟ้องอุทธรณ์และฎีกาในคดีอื่นอีกหลายสำนวน จึงไม่อาจจัดทำคำฟ้องฎีกาได้ทัน ทั้ง ๆ ที่คดีมีข้อเท็จจริงไม่สลับซับซ้อน กรณีนับได้ว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องของทนายความจำเลยที่ 1 เอง หาใช่พฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 อีก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 67, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและคืนธนบัตรจำนวน 200 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำคุกคนละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 11 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี 6 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง และคืนธนบัตรจำนวน 200 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ระหว่างระยะเวลายื่นฎีกา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีการวม 3 ครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 ขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาอีก 10 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า กรณีมีเหตุที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาตามคำร้องฉบับลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 ออกไปอีกครั้งหรือไม่ เห็นว่า การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลมีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่กรณีที่มีเหตุสุดวิสัยซึ่งศาลจะขยายระยะเวลาให้ตามคำร้องหรือไม่เป็นดุลพินิจที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาติดต่อกันรวม 3 ครั้ง ตามคำร้องลงวันที่ 27 กันยายน 2545 วันที่ 16 ตุลาคม 2545 และวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 โดยทุกครั้งจะอ้างเหตุผลทำนองเดียวกันว่า ทนายความจำเลยที่ 1 จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของคำพยานและเอกสารในสำนวน ประกอบกับทนายความจำเลยที่ 1 ต้องทำคำฟ้องอุทธรณ์และฎีกาในคดีอื่นอีกหลายสำนวน จึงไม่อาจจัดทำคำฟ้องฎีกาในคดีนี้ได้ทัน ซึ่งศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตตลอดมาโดยกำชับในคำร้องฉบับที่สามว่าอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลายื่นฎีกาเป็นครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 แต่เมื่อครบกำหนดวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 จำเลยที่ 1 กลับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาอีก 10 วัน โดยอ้างเหตุเช่นเดิม ทั้ง ๆ ที่คดีมีข้อเท็จจริงไม่สลับซับซ้อน หากทนายความจำเลยที่ 1 ตั้งใจจริงย่อมสามารถจัดทำคำฟ้องฎีกาและยื่นฎีกาได้ภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตซึ่งเป็นเวลานานเกินกว่า 2 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้วนั้นได้และที่ทนายความจำเลยที่ 1 อ้างว่าต้องจัดทำคำฟ้องอุทธรณ์และฎีกาในสำนวนคดีอื่นอีกนั้นก็เป็นการกล่างอ้างลอย ๆ ไม่มีหลักฐานประกอบ กรณีนับได้ว่าเป็นความผิดพลาดบกพร่องของทนายความจำเลยที่ 1 เอง หาใช่พฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 อีก ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share