คำสั่งคำร้องที่ 1472/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาข้อ 2 ของจำเลยเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ส่วนฎีกาข้อ 3เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่มิได้ยกขึ้นว่ากันแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงไม่รับ
จำเลยทั้งสองเห็นว่า ฎีกาข้อ 2 ที่ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ให้ลงโทษปรับ 200 บาท แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8),83 ให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ เป็นการแก้ทั้งบทและโทษซึ่งเป็นการแก้ไขมากจึงไม่ต้องห้ามฎีกา
สำหรับฎีกาข้อ 3 ของจำเลยที่ 2 ที่ว่าการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่หยิบยกปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการป้องกันขึ้นวินิจฉัยให้ทั้งที่จำเลยที่ 2 ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้แล้วว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำผิด เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนโปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์และโจทก์ร่วมยังไม่ได้รับสำเนาคำร้องระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 ไว้200 บาท จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371,297(8) ให้เรียงกระทงลงโทษข้อหาพกพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะฯ ให้ปรับ 80 บาท ข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสให้จำคุกไว้ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 3 ปีปรับ 80 บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(8),83 ให้จำคุกไว้ 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 96)
จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 98)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว สำหรับฎีกาข้อ 2 เห็นว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 เพียงปรับ 200 บาท ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก 1 ปี ดังนี้ ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มิได้สมคบกับจำเลยที่ 2 เหตุเกิดทันทีทันใดเพราะจำเลยที่ 1 บันดาลโทสะยั้งคิดไม่ทัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ผิดฐานทำร้ายร่างกายไม่ถึงบาดเจ็บ โต้เถียงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนฎีกาข้อ 3 ที่ว่า กรณีเป็นเรื่องวิวาทกันโดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อเหตุก่อน จำเลยที่ 2 ต้องป้องกัน และเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุนั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสองชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share