คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 836/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ภริยาของจำเลยได้รับยกให้ฝ่ายเดียวในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยโดยมิได้จดทะเบียนสมรสจึงบังคับตามบทบัญญัติเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาไม่ได้ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ด้วยกันที่จะแบ่งกึ่งหนึ่งในฐานะหุ้นส่วนได้ เมื่อที่ดินพิพาทมิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยการที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม เป็นเหตุให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทซึ่งภริยาของจำเลยได้มาในระหว่างสมรส หลังจากภริยาของจำเลยถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์เป็นของจำเลย คงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอย่างเจ้าของตลอดมาต่อมาจำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์แล้วไม่ยอมโอนให้ถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้โจทก์เข้าสวมสิทธิเรียกร้องของจำเลยแทนจำเลยในเรื่องแบ่งทรัพย์สินและรับมรดกของภริยาจำเลยด้วย
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของภริยาจำเลย จำเลยกับภริยาอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ภายหลังภริยาของจำเลยถึงแก่กรรม โจทก์จำเลยต่างสำคัญผิดว่าที่ดินจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จำเลยจึงได้ตกลงขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์โดยทายาทโดยธรรมของภริยาจำเลยไม่รู้เห็นยินยอมด้วย ต่อมาจำเลยติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอรับมรดกที่ดินเป็นของจำเลยแต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าจำเลยไม่มีสิทธิรับมรดก จำเลยขอร้องบุตรให้ขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ แต่บุตรไม่ยินยอม จึงเป็นการสุดวิสัยและพ้นวิสัยที่จำเลยจะโอนขายที่ดินให้แก่โจทก์ได้ เป็นการตกลงทำนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายโดยการสำคัญผิดในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะจำเลยได้แสดงเจตนาคืนเงินมัดจำแต่โจทก์ไม่ยอมรับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบตรงกันและมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยกับนางตาเป็นสามีภริยากันโดยไม่จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 7 คน ที่ดินพิพาทที่ซื้อขายกันเดิมเป็นของนายหยิบพี่ชายนางตาได้ยกให้แก่นางตา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2506จำนวน 20 ไร่ ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2528 นางตาถึงแก่กรรมครั้นวันที่ 19 พฤษภาคม 2530 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่โจทก์ในราคา 470,000 บาท โจทก์วางเงินมัดจำให้จำเลย 10,000 บาท และนัดทำการรังวัดแบ่งแยกจดทะเบียนโอนให้แก่ผู้จะซื้อในวันที่ 5 มิถุนายน 2531 ตามเอกสารหมาย จ.1ต่อมาเมื่อถึงวันนัดจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และเสนอขอคืนเงินมัดจำ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมหรือไม่ และโจทก์ชอบที่จะเข้าสวมสิทธิหรือใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยในนามโจทก์ในเรื่องแบ่งทรัพย์นางตา ผู้ตายเฉพาะส่วนที่ดินที่จำเลยทำสัญญาจะขายให้โจทก์ได้หรือไม่ สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรมหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยเป็นสามีนางตา แม้จะมิได้จดทะเบียนสมรส แต่นางตาก็ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างอยู่กินร่วมกันจึงเสมอด้วยการเป็นหุ้นส่วนกันคนละครึ่ง ที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยครึ่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จำเลยจึงทำสัญญาจะขายให้โจทก์มิใช่เป็นการสำคัญผิดนั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่นายหยิบพี่ชายของนางตายกให้แก่นางตา แม้จะเป็นการยกให้ระหว่างอยู่กินด้วยกันกับจำเลยก็ตาม เมื่อจำเลยกับนางตามิได้จดทะเบียนสมรสจึงบังคับตามบทบัญญัติเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาไม่ได้และที่ดินดังกล่าวนางตาได้รับยกให้ฝ่ายเดียวจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ด้วยกันกับจำเลย อันจะแบ่งในฐานะหุ้นส่วนครึ่งหนึ่งดังที่โจทก์อ้าง ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเลยการที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นิติกรรมที่จำเลยทำกับโจทก์ดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย เมื่อจำเลยไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และนิติกรรมที่ทำกับโจทก์เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 แล้ว คดีจึงไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้อต่อไปที่ว่า โจทก์ชอบที่จะเข้าสวมสิทธิหรือใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยในนามโจทก์ในเรื่องแบ่งทรัพย์นางตาต่อไปแต่อย่างใด ฎีกาทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share