คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1627 หาใช่มุ่งหมายเฉพาะบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตรแล้วเท่านั้นไม่ แต่ยังหมายความรวมถึงบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์ที่ปรากฏแก่บุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตรด้วย
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องยืม ให้จำเลยรับผิดที่ผู้ตายกู้ยืมเงินของโจทก์ไปศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเช็ค 2 ฉบับที่ผู้ตายสั่งจ่ายให้โจทก์มิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมคดีถึงที่สุด โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เรื่องตั๋วเงิน ให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คที่ผู้ตายสั่งจ่ายไว้ดังนี้ สิทธิของโจทก์ที่อ้างตามฟ้องคดีนี้กับคดีก่อนไม่เหมือนกัน ประเด็นที่วินิจฉัยในคดีทั้งสองเรื่องก็อาศัยเหตุต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้สืบสันดานและทายาทของผู้ตาย ดังนั้นความรับผิดของจำเลยแต่ละคนจึงจำกัดอยู่เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตนได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1601 และ1738 วรรคสองอยู่แล้ว หาจำเป็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยซ้ำกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่ การที่โจทก์จะบังคับคดีเอาแก่ทายาทคนใดได้มากน้อยเพียงใด ย่อมเป็นไปตามกฎหมายและเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวในชั้นบังคับคดีอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ม.ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ ๑ และเป็นบิดาจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ได้สั่งจ่ายเช็ค ๒ ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ ๒๐๐,๐๐๐ บาทมอบให้โจทก์เป็นการชำระหนี้ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและ ม.ถึงแก่กรรม จำเลยเป็นทายาทของผู้ตายจึงต้องร่วมกันใช้หนี้ดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยร่วมกันใช้เงินตามเช็คจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๖ ให้การว่ามิได้เป็นภรรยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ม.ผู้ตาย จำเลยไม่เคยรับมรดกของผู้ตายผู้ตายไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ
จำเลยที่ ๔ ที่ ๕ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ และที่ ๖ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ และที่ ๖ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๒๗ บัญญัติว่าบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามบทบัญญัติดังกล่าวหาใช่มุ่งหมายเฉพาะบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตรแล้วเท่านั้นไม่ แต่ยังหมายความรวมถึงบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์ที่ปรากฏแก่บุคคลทั่วไปว่าเป็นบุตรด้วย คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้สืบสันดานของผู้ตายโดยผู้ตายได้รับรองแล้วตามพฤติการณ์ที่ปรากฏ จำเลยมิได้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้สืบสันดานของผู้ตายซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายตามกฎหมายโดยไม่จำต้องรอให้จำเลยร้องขอเข้าเป็นผู้จัดการมรดกหรือขอรับมรดกเสียก่อนดังที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด
ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๙๔/๒๕๒๒ ของศาลแพ่งนั้น เห็นว่า ตามคดีของศาลแพ่งดังกล่าวนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกในคดีนี้เรื่องยืมให้จำเลยรับผิดที่ผู้ตายกู้ยืมเงินของโจทก์ไป ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเช็ค ๒ ฉบับที่ผู้ตายสั่งจ่ายให้โจทก์ไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมตามกฎหมาย คดีถึงที่สุดโจทก์จึงมาฟ้องจำเลยทั้งหกใหม่เป็นคดีนี้เรื่องตั๋วเงิน ให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คที่ผู้ตายเป็นผู้สั่งจ่าย ดังนี้จะเห็นได้ว่าสิทธิของโจทก์ที่อ้างตามฟ้องในคดีนี้กับคดีก่อนไม่เหมือนกัน ประเด็นที่วินิจฉัยในคดีทั้ง ๒ เรื่องก็อาศัยเหตุต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๙๔/๒๕๒๒
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลควรวินิจฉัยไปในชั้นนี้ทีเดียวว่า ให้จำเลยรับผิดเพียงขอบเขตจำกัดเท่าทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดยุ่งยากในชั้นบังคับคดีศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วในตอนต้นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะที่เป็นผู้สืบสันดานและทายาทผู้ตาย ดังนั้นความรับผิดของจำเลยแต่ละคนจึงจำกัดอยู่เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ตนได้รับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๐๑ และ ๑๗๓๘ วรรคสองอยู่แล้วหาจำเป็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยซ้ำกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่อย่างใดไม่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่โจทก์บังคับคดีเอาจากทายาทคนใดได้มากน้อยแค่ใด ย่อมเป็นไปตามกฎหมายและเป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันชั้นนี้ จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share