แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งบรรจุกระสุนพร้อมยิงเจ้าพนักงานตำรวจในระยะกระชั้นชิด 3 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่น มีรอยตำหนิที่จานท้ายกระสุนปืนซึ่งเกิดจากเข็มแทงชนวนของอาวุธปืนกระทบ เช่นนี้ ถือได้ว่า จำเลยกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบด้วยมาตรา 80
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนพกขนาด .๒๒ ใช้ยิงได้ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานหนึ่งกระบอก และกระสุนปืนลูกกรด ขนาด .๒๒ จำนวน ๕ นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับจำเลยพกพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในเมือง หมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และจำเลยได้ร่วมกับพวกใช้อาวุธปลายแหลมแบบกรรไกรแทง และใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายจำรูญ น้อยมาก ได้รับอันตรายสาหัส เมื่อสิบตำรวจเอกสอาด อนุโลม เข้าจับกุมจำเลยอันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงสิบตำรวจเอกสอาด อนุโลม โดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูก เจ้าพนักงานจับจำเลยได้และยึดอาวุธปืน ๑ กระบอก กระสุนปืนที่ยิงแล้วแต่กระสุนไม่ลั่น ๓ นัด ปลอกกระสุนปืนที่ใช้ยิงแล้ว ๒ ปลอกที่จำเลยใช้กระทำผิดเป็นของกลาง ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษซึ่งจำเลยกระทำผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่า ๑๗ ปี และจำเลยพ้นโทษแล้วภายในเวลา ๕ ปี กลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๒๙๗, ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๐, ๙๒, ๘๓, ๓๗๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๓ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๓ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับเรื่องเคยต้องโทษและพ้นโทษ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๒๙๗, ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๐, ๙๒, ๙๓ (ที่ถูกมาตรา ๘๓) พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ พระราชบัญญัติอาวุธปืน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๓ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๓ ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่านายจำรูญ น้อยมาก ผู้เสียหายซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๑๒ ปี ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกตลอดชีวิต แต่ให้เปลี่ยนเป็นจำคุก ๕๐ ปี ลงโทษฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก ๖ เดือน และลงโทษฐานพกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ปรับ ๑๐๐ บาท เพิ่มโทษตามมาตรา ๙๒ หนึ่งในสามเป็นจำคุกตามมาตรา ๒๘๘, ๘๐ มีกำหนด ๑๖ ปี จำคุกตามมาตรา ๒๘๙, ๘๐ มีกำหนด ๖๖ ปี ๘ เดือน ฐานมีอาวุธปืนมีกำหนด ๘ เดือน จำเลยรับสารภาพฐานมีอาวุธปืนและพกพาอาวุธปืน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกฐานมีอาวุธปืน ๔ เดือน ปรับฐานพกพาอาวุธปืน ๕๐ บาท รวมเป็นโทษจำคุก ๘๓ ปี ปรับ ๕๐ บาท ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยอายุ ๑๙ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ คงจำคุกฐานพยายามฆ่านายจำรูญ น้อยมาก ผู้เสียหายมีกำหนด ๘ ปี จำคุกฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานมีกำหนด ๓๓ ปี ๔ เดือน รวมโทษจำคุกสองฐานนี้ ๔๑ ปี ๔ เดือน เพิ่มโทษตามมาตรา ๙๒ หนึ่งในสาม คงจำคุก ๕๕ ปี ๑ เดือน ๑๐ วัน สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลดมาตราส่วนโทษให้ ๑ ใน ๓ คงจำคุก ๔ เดือน เพิ่มโทษตามมาตรา ๙๒ หนึ่งในสาม เป็นจำคุก ๕ เดือน ๑๐ วัน ลดฐานรับสารภาพตามมาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๒ เดือน ๒๐ วัน รวมเป็นโทษทั้งหมดจำคุก ๕๕ ปี ๖ เดือน ๒๐ วัน (ที่ถูกรวมแล้วต้องเป็นโทษจำคุก ๕๕ ปี ๔ เดือน) ปรับ ๕๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การที่กระสุนปืนไม่ลั่นเพราะเข็มแทงชนวนไม่แรงพอหรือเข็มแทงชนวนแทงไม่ถูกตำแหน่งแก๊ป ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่บรรลุผล เพราะเหตุอาวุธปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดไม่แข็งแรงพอ กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๑ ซึ่งให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งบรรจุกระสุนปืนยิงสิบตำรวจเอกสอาดในระยะกระชั้นชิด ๓ นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่น โดยมีรอยตำหนิที่จานท้ายกระสุนปืนซึ่งเกิดจากเข็มแทงชนวนของอาวุธปืนกระทบเช่นนี้ถือได้ว่า การกระทำไม่บรรลุผล จึงเป็นพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ ซึ่งต่างกับอาวุธปืนที่ไม่บรรจุกระสุนปืน หรือปืนที่ใช้ยิงไม่ได้ซึ่งเป็นปัจจัยที่ใช้ไม่สามารถบรรลุผลอย่างแน่แท้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยโดยรวมเป็นโทษจำคุกจำเลยทั้งหมด ๕๕ ปี ๖ เดือน ๒๐ วัน นั้นไม่ถูกต้อง ที่ถูกรวมแล้วต้องเป็นโทษจำคุก ๕๕ ปี ๔ เดือน
พิพากษาแก้เป็นว่า รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยทั้งหมด ๕๕ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.