แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังของเช็ค โดยไม่ปรากฏถ้อยคำสำนวนว่าใช้ได้เป็นอาวัลหรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันไม่เป็นการลงลายมือชื่อเป็นผู้รับอาวัลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 939 วรรค 1 และ 2 ประกอบด้วยมาตรา 989
จำเลยลงลายมือชื่อด้านหลังของเช็คแม้เช็คดังกล่าวระบุชื่อโจทก์ เป็นผู้รับเงินขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือ และที่มุมซ้ายบนด้านหน้ามีข้อความ ว่าเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น ห้ามเปลี่ยนมือก็ตามแต่ด้วยความสมัครใจ ของจำเลยยอมผูกพันตนต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงในอันที่จะรับผิดเป็นอย่างเดียวกับผู้สั่งจ่าย ด้วยการลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน ยอมรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินดังบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 ดังนั้น เมื่อธนาคาร ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว จำเลยย่อมต้องรับผิดชำระเงิน ตามเช็คให้แก่โจทก์ (ข้อวินิจฉัยในวรรคสองวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่12/2524)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คสองฉบับซึ่งสั่งจ่ายโดยจำเลยที่ ๑ โดยมีจำเลยที่ ๒ และ ๓ ลงชื่อเป็นผู้สลักหลังค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ในเช็คทั้งสองฉบับ และจำเลยที่ ๔ ลงชื่อเป็นผู้สลักหลังค้ำประกันในเช็คฉบับหลังโจทก์นำเช็คไปฝากเข้าบัญชีของบริษัท ค.ให้เรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ จึงขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลชั้นต้นสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ให้การต่อสู้คดีหลายประการรวมทั้งต่อสู้ว่า เช็คตามฟ้องเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะสั่งจ่ายให้โจทก์ และมีคำสั่งห้ามเปลี่ยนมือ แต่โจทก์นำไปเข้าบัญชีบุคคลอื่น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยมิใช่ผู้สลักหลังหรือค้ำประกันจำเลยที่ ๑ เช็คตามฟ้องไม่มีข้อความใดระบุว่าจำเลยเป็นผู้สลักหลังค้ำประกันหรือค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เช็คทั้งสองฉบับมิใช่เช็คสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือการที่จำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คไม่เป็นอาวัลค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ ๑ สั่งจ่ายเช็คตามฟ้องให้โจทก์รวม ๒ ฉบับ แต่ละฉบับระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินขีดฆ่าคำว่า หรือผู้ถือ ออก และที่มุมซ้ายบน ด้านหน้ามีข้อความว่า A/C PAYEEONLY NOT NEGOTIABLE หมายความว่า เข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้นห้ามเปลี่ยนมือ คือเช็คเอกสารหมาย จ.๓ ลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๑๙ สั่งจ่ายเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเช็คเอกสารหมาย จ.๔ ลงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๙ สั่งจ่ายเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังของเช็คหมาย จ.๓ และ จ.๔ ส่วนจำเลยที่ ๔ ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังของเช็คเอกสารหมาย จ.๔ เพียงฉบับเดียว ต่อมาวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๐ โจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับไปฝากเข้าบัญชีของบริษัทคอมเมอร์เชียล แอสโซซิเอท จำกัดที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาบางกะปิ ให้เรียกเก็บเงิน แต่ในวันเดียวกันธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับนั้นปรากฏตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๖ ตามลำดับ โจทก์จึงไม่ได้รับชำระหนี้ตามเช็ค
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็คเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ นั้น จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยดังฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็คเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ และที่จำเลยที่ ๔ ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็คเอกสารหมาย จ.๔ โดยเช็คทั้งสองฉบับไม่ปรากฏว่ามีถ้อยคำสำนวนว่า ใช้ได้เป็นอาวัล หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกัน ดังนี้จึงหาใช่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับอาวัลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๓๙ วรรค ๑ และ ๒ ประกอบด้วย มาตรา ๙๘๙ นั้นไม่ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์โต้แย้งว่าเป็นการรับอาวัลฟังไม่ขึ้น แต่ที่โจทก์ยกข้อโต้เถียงตลอดมาทั้งในชั้นอุทธรณ์และฎีกาว่าเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำเบิกความของโจทก์และจำเลยที่ ๒ ว่า การติดต่อขอกู้เงินระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ มีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นผู้ติดต่อโดยโจทก์ขอให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คในฐานะผู้ค้ำประกันผู้สั่งจ่าย จำเลยทั้งสามดังกล่าวต้องรับผิดตามฟ้อง นั้นศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ดังกล่าวแล้วนั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คเอกสารหมาย จ.๓ และ จ.๔ แม้เช็คทั้งสองฉบับระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงินขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือ และที่มุมซ้ายบนด้านหน้ามีข้อความว่า A/C PAYEEONLY NOT NEGOTIABLE หมายความว่า เข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้นห้ามเปลี่ยนมือ ก็ตาม แต่ก็ด้วยความสมัครใจของจำเลยทั้งสามดังกล่าวยอมผูกพันตนต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรง ในอันที่จะรับผิดเป็นอย่างเดียวกับจำเลยที่ ๑ ผู้สั่งจ่ายทั้งนี้ด้วยการลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน ยอมรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินดังบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๓ ลักษณะ ๒๑ ตั๋วเงิน หมวด ๑ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาตรา ๙๐๐ นั้นแล้วฉะนั้นเมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องและทางพิจารณารับฟังได้ว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ย่อมต้องรับผิดต่อโจทก์ชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดนับแต่วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๒๐ ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง