คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1482-1484/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยให้การปฏิเสธลอยในเรื่องค่าเสียหายที่เกิดจากละเมิดและศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเพียงว่า ค่าเสียหายตามข้อเรียกร้องของโจทก์มีหรือไม่ เมื่อโจทก์สืบไม่ได้ความชัดตามที่ตนมีหน้าที่นำสืบว่าโจทก์ได้เสียหายไปจริงตามฟ้อง ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจที่จะรับฟังพยานหลักฐานจำเลยเป็นส่วนหนึ่งเพื่อประกอบดุลพินิจที่จะกำหนดค่าเสียหายให้ตามสมควรได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ไม่เป็นการนอกประเด็น

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 7,680 บาท แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 4,800 บาท และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 4,800 บาท กับให้โจทก์ทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสามสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าเรื่องค่าเสียหายว่า จำเลยให้การปฏิเสธลอย คดีมีประเด็นเพียงว่า โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่ ส่วนค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ไม่มีประเด็นต้องสืบพยาน ที่ศาลชั้นต้นยอมให้จำเลยสืบว่าค่าเสียหายน้อยกว่าที่ฟ้อง และศาลชั้นต้นรับฟังตามนั้นเป็นการนอกประเด็นขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่าให้จำเลยทั้งสามสำนวนร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เต็มจำนวนตามฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องค่าเสียหายคดีนี้ โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบว่าได้เสียหายไปจริงตามฟ้อง กล่าวคือ โจทก์ต้องนำสืบว่าได้เสียหายจริง และค่าเสียหายมีจำนวนเท่าที่ฟ้อง มิฉะนั้นศาลจะกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ฉะนั้นแม้เป็นกรณีที่จำเลยให้การปฏิเสธลอยในเรื่องค่าเสียหายดังฎีกาโจทก์ และศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นเพียงว่าค่าเสียหายตามข้อเรียกร้องของโจทก์มีหรือไม่ก็ตามเมื่อฟังได้ว่าโจทก์สืบไม่ได้ความชัดว่าโจทก์ได้เสียหายไปจริงตามฟ้องศาลชั้นต้นก็มีอำนาจที่จะรับฟังพยานหลักฐานจำเลยเป็นส่วนหนึ่งเพื่อประกอบดุลพินิจที่จะกำหนดค่าเสียหายให้ตามสมควรได้ ไม่เป็นการนอกประเด็นดังโจทก์ฎีกา

ส่วนที่โจทก์ฎีกาเรื่องค่าทนายความว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ใช้แทนจำเลยไม่ถูกต้อง เพราะศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เห็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้นจึงพิพากษายืน ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์แพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยได้ตามอำนาจในมาตรา 161 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share