คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2939/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าซึ่งเป็นของมีค่า ในเมื่อผู้ส่งได้แจ้งราคาของสินค้านั้นแก่ผู้ขนส่งแล้ว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ 100 ปอนด์ หรือ 3,770 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 95,304 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายในชั้นฎีกาเพียงว่า โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามราคาสินค้าได้หรือไม่ ในเรื่องความรับผิดของจำเลยนี้ จำเลยได้ให้การต่อสู้ว่า “หากสินค้าเสียหายหรือสูญหายในระหว่างที่อยู่ในทะเล จำเลยจะรับผิดไม่เกินราคาสินค้าที่จดแจ้งในใบตราส่ง (บิลออฟเลดิ้ง) ถ้ามิได้จดแจ้งราคาไว้เช่นนั้น ก็จะรับผิดไม่เกิน 100 ปอนด์สเตอร์ลิงต่อสินค้า 1 ชุด หรือหีบห่อ (เท่ากับเงินไทย 3,777 บาท) เพราะการคิดค่าระวางเรือนั้นประเพณีการค้าหรือการขนส่งทางทะเล ก็คิดตามน้ำหนักหรือปริมาตรของสินค้า ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก หากเป็นสินค้ามีค่า เจ้าของสินค้าจะต้องแจ้งราคาสินค้าให้แก่บริษัทเรือทราบ ซึ่งในกรณีเช่นนั้น บริษัทเรือผู้รับขนก็จะคิดค่าระวางสินค้าตามราคาสินค้า ไม่คิดตามน้ำหนักหรือปริมาตร แต่ปรากฏว่าในคดีนี้เจ้าของสินค้าหรือผู้รับตราส่ง (ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นบริษัทไตตันโคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) หาได้แจ้งราคาสินค้าแก่บริษัทโอเวอร์ซีล์คอนแทนเนอร์ จำกัด แต่อย่างไรไม่ ดังนั้น หากบริษัทไตตันโคอินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด จะได้รับความเสียหาย และโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจริง (ซึ่งจำเลยปฏิเสธ)จำเลยก็ขอต่อสู้ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้เงินจำนวนไม่เกิน 100 ปอนด์สเตอร์ลิง (เท่ากับเงินไทย 3,777 บาท) เท่านั้น” ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเวลานี้ประเทศไทยยังไม่มีบทกฎหมายและกฎข้อบังคับถึงความรับผิดของผู้ขนส่งในการรับขนของทางทะเล หรือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในเรื่องการรับขนของทางทะเลแต่อย่างใด จึงต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะ 4 ว่าด้วยการรับขนของ แล้ววินิจฉัยว่าสินค้ารายนี้เป็นสินค้าประเภทกุญแจและเครื่องโลหะ จึงไม่ใช่ของมีค่าซึ่งผู้ส่งจะต้องแจ้งราคาแก่ผู้ขนส่ง จึงไม่เป็นเหตุให้ผู้ส่ง (น่าจะเป็นผู้ขนส่ง) ปฏิเสธความรับผิดที่จะต้องชดใช้ราคาสินค้าซึ่งสูญหายไปนั้นแก่ผู้ร้องหรือผู้รับตราส่งให้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 และมาตรา 620 จำเลยฎีกาว่าสินค้ากุญแจและเครื่องโลหะเป็นของมีค่า ผู้ส่งจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่ผู้ขนส่งด้วย เมื่อผู้ส่งไม่แจ้งราคาแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่ง จำเลยจึงรับผิดในความสูญหายหรือเสียหายในข้อตกลงและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบตราส่ง ซึ่งเป็นประเพณีทางการขนส่งบังคับทั่วโลก ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่า ผู้ส่งคือบริษัทอีตัน จำกัด ในประเทศอังกฤษ ได้แจ้งราคาสินค้าให้บริษัทโอเวอร์ซีส์ คอนแทนเนอร์ จำกัด ผู้ขนส่งทอดแทรกทราบหรือไม่ เห็นว่า ตามใบจองระวางเรือตามเอกสารหมาย ล.2 ที่บริษัทอีตัน จำกัด ขอจองระวางเรือต่อบิษัทโอเวอร์ซีส์ คอนแทนเนอร์จำกัด เพื่อขนส่งสินค้าพิพาทก็ดี ตามใบกำกับของ (ใบอินวอยซ์) ที่บริษัทอีตันจำกัด เป็นผู้ออกตามเอกสารหมาย จ.3 ก็ดี ได้ระบุราคาสินค้าพิพาทไว้ 2,244ปอนด์ จำเลยก็นำสืบรับว่าใบจองระวางเรือก็ดี ในกำกับของ (ใบอินวอยซ์) ก็ดีได้ระบุราคาสินค้าไว้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าบริษัทอีตัน จำกัด ผู้ส่งของได้แจ้งราคาสินค้าพิพาทให้บริษัทโอเวอร์ซีส์ คอนแทนเนอร์ จำกัด ผู้ขนส่งทอดแทรกทราบแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามราคาสินค้า ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้ออ้างอื่น ๆ ที่จำเลยกล่าวไว้ในฎีกา เพราะเป็นข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ให้จำเลยก็ต้องรับผิดตามราคาสินค้า”

พิพากษายืน

Share