คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2954/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จะยกฐานะวัดโจทก์จากวัดร้างข้นเป็นวันที่มีพระสงฆ์ในปี พ.ศ. 2518 ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม แต่พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มิได้บัญญัติถึงวัดร้าง ฉะนั้นวัดร้างจึงมิได้เสียสภาพจากการเป็นวัด เพราะยังมิได้มีการยุบเลิกวัดร้าง และยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพย์สินที่เป็นของวัดได้อยู่ โดยให้พนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรเป็นผู้ปกครองรักษาไว้แทน ต่อมาวัดโจทก์ได้รับการยกฐานะจากวัดร้างขั้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 72 และเป็นผู้สืบทอดสิทธิต่าง ๆ ของวัดร้างนั้นมา จึงมีอำนาจเป็นโจทก์และมีสิทธิติดตามเอาคืน ซึ่งทรัพย์สินของวัดร้างนั้นจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
จำเลยยกข้อต่อสู้ เรื่องการครอบครองปรปักษ์ไว้ในคำให้การ แต่เมื่อศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถาน มิได้กำหนดปัญหาดังกล่าวไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านแต่ประการใด จึงถือว่าคู่ความได้สละเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้แล้ว ศาลจะหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยอีกไม่ได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประเภทวัดในพระพุทธศาสนา โจทก์เป็นเจ้าของพระพุทธรูปปูนปั้นปางปาละวิชัยมีชื่อว่า “หลวงพ่อแดง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปวัดโจทก์มานับร้อยปี เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนในท้องถิ่นนั้นตลอดมา จำเลยเป็นวัดในพระพุทธศาสนาและเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๑ พระรักษ์และพระสนธิกับพวกได้นำพระพุทธรูปหลวงพ่อแดงไปจากวัดโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ใด นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดจำเลย โจทก์และประชาชนได้พยายามคัดค้านห้ามปรามให้จำเลยส่งคืนตลอดมา แต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมาโจทก์ได้ร้องเรียนไปยังเจ้าคณะอำเภอพรหมพิราม ขอให้จำเลยนำพระพุทธรูปหลวงพ่อแดงคืนโจทก์ เจ้าคณะอำเภอดังกล่าวได้สั่งให้จำเลยคืน จำเลยเพิกเฉย โจทก์ร้องเรียนไปยังเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลกและกรรมการสงฆ์มีคำสั่งให้จำเลยคืน จำเลยอุทธรณ์คำสั่งไปยังเจ้าคณะภาค ๕ เจ้าคณะภาค ๕ มีคำสั่งยกอุทธรณ์ของจำเลย และมีคำสั่งให้จำเลยคืนอีก จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้บังคับ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเพราะเป็นเพียงสำนักสงฆ์ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เดิมพระพุทธรูปหลวงพ่อแดงอยู่ในสภาพปรักหักพังชำรุดตั้งอยู่ในป่า ซึ่งไม่ได้เป็นวัดร้างมาก่อน สถานที่นั้นไม่ปรากฏอยู่ทนทะเบียนวัดร้างของทางราชการ ไม่ปรากฏเจ้าของ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ เจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอท้องที่ได้อนุญาตให้นำพระพุทธรูปไปซ่อมแซมให้สมบูรณ์ต้องเป็นพระประธานไว้ในโบสถ์วัด จำเลยเป็นส่วนควบของโบสถ์ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกไปได้ นอกจากจะทำลายฐานประตูหน้าต่างและผนังโบสถ์ จำเลยครอบครองพระพุทธรูปดังกล่าวอย่างเป็นเจ้าของ เป็นศาลสมบัติของวัดตลอดมาจนบัดนี้เป็นเวลา ๒๐ ปีแล้ว วัดจำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์เพิ่งได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงไม่มีสิทธิย้อนหลังไม่เป็นเจ้าของหรือได้กรรมสิทธิ์ในพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งมีอยู่ก่อน ไม่มีอำนาจติดตามเอาคืนจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า พระพุทธรูปหลวงพ่อแดงเป็นพระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย เดิมประดิษฐานอยู่ในป่าบ้านไผ่ขอดอน หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก พระภิกษุทองอยู่เจ้าอาวาสวัดไผ่ขอดอนเป็นผู้พบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ องค์พระเดิมมีสภาพชำรุด จึงได้จัดการซ่อมแซม และได้สร้างหลังคาคลุมองค์พระไว้ หลังจากซ่อมแล้วได้มีชาวบ้านแถบนั้นไปบูชากราบไหว้เป็นประจำ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๐๑ พระภิกษุรักษ์เจ้าอาวาสวัดจำเลยในขณะนั้นได้ร่วมกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้มานำองค์พระพุทธรูป หลวงพ่อแดงจากที่ประดิษฐานอยู่เดิมไปประดิษฐานเป็นพระประธานประจำโบสถ์วัดจำเลย ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ทางราชการได้ประกาศยกสถานที่ที่พบและประดิษฐานองค์ประพุทธรูปหลวงพ่อแดง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ นั้นขึ้นเป็นวัด โดยอ้างว่าสถานที่ตั้งพระพุทธรูปหลวงพ่อแดงเดิมนั้นเป็นวัดร้างขึ้นเป็นวัดมีพระสงฆ์ชื่อว่า “วัดหลวงพ่อแดง” ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เจ้าอาวาสวัดโจทก์พร้อมด้วยประชาชนแถววัดโจทก์ได้ร้องเรียนต่อเจ้าคณะจังหวัดให้จำเลยคือ องค์พระพุทธรูปหลวงพ่อแดง เจ้าคณะจังหวัดพร้อมด้วยคณะกรรมการสงฆ์ได้วินิจฉัยให้จำเลยคืน จำเลยได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าคณะจังหวัดต่อเจ้าคณะภาค ๕ เจ้าคณะภาค ๕ ได้วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์จำเลย โดยวินิจฉัยยืนตามคำตัดสินของคณะกรรมการมีเจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธาน และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า วัดโจทก์ถึงแม้ว่าจะเป็นวัดซึ่งยกฐานะจากวัดร้างข้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเอกสารหมาย จ.๑ ก็ดี แต่พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มิได้บัญญัติถึงวัดร้าง ฉะนั้นวัดร้างจึงมิได้เสียสภาพจากการเป็นวัด เพราะยังมิได้มีการยุบเลิกวัดร้าง และยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพย์สินที่เป็นของวัดได้อยู่ โดยให้พนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรเป็นผู้ปกครองรักษาไว้แทน ต่อมาปรากฏว่า โจทก์คดีนี้ได้รับการยกฐานะจากวัดร้างขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒ และเป็นผู้สืบทอดสิทธิต่าง ๆ ของวัดร้างนั้นมา ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ และมีสิทธิติดตามเอาคืนองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อแดงจากจำเลย ผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖
ส่วนประเด็นเรื่องจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในองค์พระพุทธรูปหลวงพ่อแดง โดยการครอบครองปกปักษ์หรือไม่นั้น แม้จำเลยจะได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เมื่อศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานกำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบ ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดปัญหาข้อนี้เป็นประเด็นไว้ โจทก์จำเลยมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านแต่ประการใด จึงถือว่าคู่ความได้สละเกี่ยวกับปัญหาข้อนี้แล้ว ฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณา ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้
พิพากษากลับ ให้จำเลยส่งคืนพระพุทธรูปหลวงพ่อแดงแก่โจทก์ ฯลฯ

Share