แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 11,830 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 2ที่ 3 เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คดีของจำเลยที่ 3 จะต้องห้ามฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์ที่ 2ให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องห้ามฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246,247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร5ฌ-0138 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน81-6112 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-6112 กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1ซึ่งมีโจทก์ที่ 2 นั่งซ้อนท้ายล้มลง เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บแต่โจทก์ทั้งสองขอค่าเสียหายเพียง 380,000 บาท จำเลยที่ 1กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยที่ 4ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 380,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างและกระทำการไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2และที่ 3 เหตุที่รถยนต์บรรทุกชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ที่ 1ก็เพราะความประมาทของโจทก์ที่ 1 ฝ่ายเดียวไม่ใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 อนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ได้ประกอบกิจการค้าร่วมกันหรือเป็นตัวการตัวแทนซึ่งกันและกัน สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องมานั้นสูงเกินความจริง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 1 ทั้งโจทก์ที่ 1 และที่ 2บาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เสียค่ารักษาพยาบาลและค่าขาดประโยชน์จากการทำงานไม่มากเท่าฟ้อง จำเลยที่ 4เป็นผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดตามกรมธรรม์ไม่เกินคนละ50,000 บาท ต่ออุบัติเหตุหนึ่งครั้ง ดังนั้น ถ้าจำเลยที่ 4จะต้องรับผิดก็ไม่เกิน 100,000 บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันชำระเงิน 232,714 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และจำนวน11,830 บาท แก่โจทก์ที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1และจำนวน 11,830 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่ต้องรับผิดนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน81-6112 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนจรัญสนิทวงศ์มุ่งหน้าไปทางสะพานพระราม 6โจทก์ที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร5ฌ-0138 ไปในทางเดียวกันมีโจทก์ที่ 2 นั่งซ้อนท้ายเมื่อรถทั้งสองคันแล่นมาถึงปากซอยดวงดีได้เกิดเฉี่ยวชนกัน เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับอันตรายแก่กาย และจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่กับค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองมีเพียงใด เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 11,830 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 2ที่ 3 เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ข้างต้นเป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีการับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2ไม่ได้คงรับวินิจฉัยให้เฉพาะฎีกาที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1ซึ่งมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเกินกว่า 200,000 บาท เท่านั้นในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกเปลี่ยนช่องเดินรถกะทันหันเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ที่ 1 ขับ ซึ่งแล่นอยู่ข้าง ๆ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียวปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่างปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้นได้ความจากที่โจทก์ที่ 1 นำสืบและจำเลยที่ 3 เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน81-6112 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการค้าขายเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างชื่อร้านแสงทองขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกทรายซึ่งเป็นกิจการของจำเลยที่ 2หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 หลบหนีเข้าไปในร้านแสงทองซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไม่ใช่ของตน และจำเลยที่ 1ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุได้ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จริงส่วนคดีของจำเลยที่ 3 นั้น จากทางนำสืบของโจทก์ที่ 1ได้ความแต่เพียงว่า หลังจากเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 3เป็นผู้ติดต่อขอชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 3 ได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2อย่างใด คงได้ความจากจำเลยที่ 3 ว่าร้านแสงทองเป็นของจำเลยที่ 2 แต่ให้นายพิศาลซึ่งเป็นบุตรเป็นผู้ดำเนินกิจการแทน จำเลยที่ 3 มีกิจการของตนเองต่างหากไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 3ไปตกลงเรื่องค่าเสียหายเพราะนายพิศาลน้องชายขอร้องให้ไปช่วยเจรจาเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย สำหรับปัญหาที่ว่า โจทก์ที่ 1เสียหายเพียงใดนั้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1 ตามหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินโรงพยาบาลเอกชนซึ่งสูงกว่าทางโรงพยาบาลของทางราชการ 5 ถึง 10 เท่า ค่าเสียหายส่วนนี้ถ้ามีอยู่จริงก็ไม่ควรเกิน 40,000 บาท นั้น ตามฎีกาของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ยอมรับว่า โจทก์ที่ 1 ได้เสียค่ารักษาพยาบาลจริงตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ที่ 1 อ้าง คงเถียงว่าสูงเกินไปเพราะเป็นโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 1 จะไปรักษาที่โรงพยาบาลใดย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่ 1เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้เสียค่ารักษาพยาบาลไปจริง และจำเลยที่ 2ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดชอบตามนั้น ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ที่ 1ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1นำสืบว่า โจทก์ที่ 1 ประกอบอาชีพเป็นช่างซ่อมเครื่องถ่ายเอกสารได้รับเงินเดือนเดือนละ 5,000 บาท ได้รับค่าคอมมิชชั่นและเบี้ยเลี้ยงอีกเดือนละ 5,000 บาท ระหว่างรักษาตัวไปทำงานไม่ได้เป็นเวลา 5 เดือน ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เดือนละ 4,000 บาท เป็นเวลา 5 เดือน เป็นเงิน20,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 20,000 บาทจึงเหมาะสมแล้วที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไม่ควรเกิน 10,000 บาท นั้นเห็นว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายส่วนนี้เนื่องจากการละเมิดของจำเลยที่ 1ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ไหปลาร้าขวาหักข้อเข่าขาขวาหลุด อันเป็นความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกเอาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 446 เมื่อพิจารณาถึงความเสียหายที่โจทก์ที่ 1ได้รับแล้ว เห็นว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่โดยที่คดีนี้ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คดีของจำเลยที่ 3 จะต้องห้ามฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องโจทก์ที่ 2ฝ่ายให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องห้ามฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบด้วยมาตรา 246, 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์