คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้โดย สิ้นเชิงตามป.พ.พ. มาตรา 291 แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะมีลูกหนี้ร่วม คนอื่นก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นนอกจากที่ดินที่ได้ โอนขายให้จำเลยที่ 2ที่ 3 ไป และขณะโอนขาย จำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ทราบดีว่าจำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์และไม่มีทรัพย์สินอื่นพอ ชำระหนี้โจทก์ โจทก์ย่อมขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2225 ระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2529ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการจดทะเบียนดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การร่วมกันว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โดยมิได้รู้มาก่อนว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาโจทก์มิได้เสียเปรียบเพราะโจทก์สามารถบังคับคดีชำระหนี้โจทก์ได้จากลูกหนี้ร่วมคนอื่น ๆ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2225 ตำบลหัวทะเลอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และที่ 3 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2529 ให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3ไปจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ถ้าจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่โจทก์นำสืบ โดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นรวม 2 คดี คือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 412/2528 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1นายวิสัย หอมจันทึก นายวิน พับขุนทด นายจรูญ หอมจันทึก และนายตั้ดพับขุนทด ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำนวนเงิน 5,585.50 บาท ภายในวันที่31 มีนาคม 2529 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบเจ็ดต่อปีในต้นเงินจำนวน 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่ศาลสั่งคืน และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่431/2528 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 นายไผ่ ดีอ่อน และนายแป๋วเทียวประสงค์ ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำนวนเงิน 14,984.75 บาท ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2529 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบเจ็ดต่อปีในต้นเงินจำนวน 8,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่ศาลสั่งคืน ต่อมาเมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2225 เนื้อที่ 37 ไร่3 งาน 70 ตารางวา ตำบลหัวทะเล อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในราคา 95,000 บาท โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ข้อหาโกงเจ้าหนี้ พนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิได้ฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 เดือนคดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฏตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1563/2529 โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น จำเลยที่ 2 ที่ 3รู้หรือไม่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์และไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ให้โจทก์ อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ปัญหาข้อนี้… เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมานอกจากจะมีนายวีระเดช ปานจันทร์กับนายสมชาย แซ่เตีย พนักงานของโจทก์เบิกความยืนยันว่าได้ติดตามหนี้สินจากจำเลยทั้งสามและแจ้งให้ลูกหนี้โจทก์ทราบในที่ประชุมกลุ่มลูกค้าแล้ว โจทก์ยังมีบันทึกการเร่งรัดหนี้เงินกู้ เอกสารหมาย จ.22และ จ.27 ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เข้าร่วมประชุมและรับทราบถึงหนี้สินที่จะต้องชำระให้แก่โจทก์ด้วย นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายฉอ้อน ฟ้าคุ้ม หัวหน้ากลุ่มที่ 119 กลุ่มเดียวกับจำเลยที่ 3 เป็นพยานสนับสนุนอีกว่าในการประชุมจะมีการชี้แจงเกี่ยวกับหนี้สินของลูกค้าแต่ละคนที่เป็นหนี้โจทก์ กับมีนายบุญศรี พาระหันต์กำนันตำบลหัวทะเลเป็นพยานเบิกความถึงหนังสือสัญญาการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เอกสารหมาย ล.1และ ล.2 ว่าพยานเป็นผู้เขียนสัญญาให้จำเลยทั้งสามย้อนหลังไปในปีพ.ศ. 2518 และปี พ.ศ. 2524 ซึ่งความจริงสัญญาดังกล่าวทำขึ้นในปี พ.ศ. 2529 นายฉอ้อนและนายบุญศรีเป็นลูกค้าโจทก์เช่นเดียวกับจำเลยทั้งสาม ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับโจทก์ คำเบิกความของนายฉอ้อนและนายบุญศรีจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยที่ 3นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ยังมีที่ดินอื่นอีก 10 ไร่นั้น นายสุรพันธ์ผู้จัดการสาขาโจทก์ประจำจังหวัดชัยภูมิ เบิกความว่าจำเลยที่ 1ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีกนอกจากที่ดินพิพาท ซึ่งจำเลยที่ 1 พยานจำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็เบิกความเจือสมพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีที่ดินพิพาทแปลงเดียวไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่า ที่ดิน 10 ไร่ดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 จริงพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3ศาลฎีกาเชื่อว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับโอนที่ดินพิพาทไปจากจำเลยที่ 1 โดยรู้ถึงข้อความจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ขณะทำการรับโอนที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นพอชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้โดยสิ้นเชิงแม้จำเลยที่ 1จะมีลูกหนี้ร่วมคนอื่นก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 291 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้นอกจากที่ดินพิพาทแล้ว การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3รับซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ไว้จึงเป็นการทำให้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลดน้อยลงไม่พอที่จะใช้หนี้แก่โจทก์อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ กรณีเช่นนี้ โจทก์จึงมีอำนาจที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share