แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 การฎีกาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำสั่งระหว่างพิจารณาจะต้องพิจารณา จากคดีเดิมเป็นสำคัญ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 ได้แยกการยื่นบัญชีระบุพยานไว้ 2 กรณี กรณีแรกเป็นการยืนบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยาน ได้สิ้นสุดลงแล้วกับไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้เลยอีกกรณีหนึ่ง แต่ทั้งสองกรณีเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายนั้นจะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตพร้อมกับแสดงเหตุอันสมควรให้ศาลทราบ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสั่ง ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีเพราะเห็นว่าจำเลยประวิงคดี แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จสิ้นในวันนั้น แต่การที่จะเลื่อนไปสืบพยานจำเลยนั้น จะต้องปรากฏว่า จำเลยมีสิทธิที่จะนำพยานเข้าสืบ เมื่อจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ แต่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ทั้งมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยก็ไม่อาจนำพยานเข้าสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 การที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาโดยไม่สอบจำเลยเรื่องมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเสียก่อน จึงชอบแล้ว จำเลยที่มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแต่มีสิทธิที่จะอ้างตนเองเป็นพยานได้ ต้อง เป็นกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสองซึ่งจำเลยอาจสาบานตนให้การเป็นพยานและถามค้านพยานโจทก์ได้ หรือมิฉะนั้นต้องเป็นกรณีที่ศาลใช้อำนาจตามมาตรา 87(2) ที่จะรับฟังพยานแม้จะเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 แต่กรณีของจำเลยเมื่อไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวจำเลยจึงไม่มีสิทธิอ้างตนเองเป็นพยาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 142,244 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 71,000 บาทแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์ 142,244 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 การฎีกาในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำสั่งระหว่างพิจารณาจึงต้องห้ามเช่นเดียวกันเพราะจะต้องพิจารณาจากคดีเดิมเป็นสำคัญ ดังนี้ ที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะทนายจำเลยที่ 1 ป่วยจริง จำเลยที่ 1 มิได้ประวิงคดีเป็นการฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวมา ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งงดสืบพยานโดยไม่สอบจำเลยที่ 1ก่อนว่าเหตุใดจึงไม่ยื่นบัญชีระบุพยาน เป็นการมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคท้าย หรือไม่ มาตรา 88 วรรคท้าย บัญญัติว่า “เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยนตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสองแล้วแต่กรณีได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้วหรือถ้าคู่ความฝ่ายใดซึ่งมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้คู่ความฝ่ายนั้นอาจยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาคดี และถ้าศาลเห็นว่าเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลอนุญาตตามคำร้อง” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าได้แยกการยื่นบัญชีระบุพยานไว้ 2 กรณี กรณีแรกเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานได้สิ้นสุดลงแล้วกับไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้เลยอีกกรณีหนึ่ง แต่ทั้งสองกรณีเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายนั้นจะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตพร้อมกับแสดงเหตุอันสมควรให้ศาลทราบเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสั่งข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เลื่อนคดีเพราะเห็นว่าจำเลยที่ 1 ประวิงคดี แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จสิ้นในวันนั้น แต่การที่จะเลื่อนไปสืบพยานจำเลยนั้นจะต้องปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะนำพยานเข้าสืบ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ทั้งมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจนำพยานเข้าสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 การที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาไม่สอบจำเลยที่ 1 เรื่องมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเสียก่อนจึงชอบแล้ว
จำเลยที่ 1 ได้ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า แม้จำเลยจะมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานแต่จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะอ้างตนเองเป็นพยานได้นั้น เห็นว่า ต้องเป็นกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคสอง บัญญัติว่าจำเลยอาจสาบานตนให้การเป็นพยานและถามค้านพยานโจทก์ได้หรือมิฉะนั้นต้องเป็นกรณีที่ศาลใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ที่จะรับฟังพยานแม้จะเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 กรณีของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าวจำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอ้างตนเองเป็นพยาน
พิพากษายืน