คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พินัยกรรมจะมีพยานลงลายมือชื่อสองคน แต่มิได้ลงวันเดือนปีในขณะที่ทำพินัยกรรม ต้องถือว่าเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1656 ย่อมเป็นโมฆะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1705
ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะทายาทจำนวน 10,000 บาท แล้วทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก โดยผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดกที่จะมีขึ้นในอนาคตให้หมดไปจึงเป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และข้อความดังกล่าวเป็นการสละมรดกทั้งหมดมิใช่สละมรดกบางส่วนเพราะเงินฌาปนกิจสงเคราะห์มิใช่ทรัพย์มรดก การประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นการสละมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 และมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1615 ไม่มีอำนาจร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือถอนผู้จัดการมรดก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทรเกตุจิตร ผู้ตาย เพื่อจัดการมรดกตามพินัยกรรม

ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอและแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องขอ ขอให้มีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านและแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้าน ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องกับยกคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 1

ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมของผู้ตายมีผลสมบูรณ์เพราะมีพยานหลายคนขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายไป 60,000 บาท และทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ อีกผู้คัดค้านที่ 1 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกผู้ร้องไม่เคยทำผิดหน้าที่ในการจัดการมรดกแต่อย่างใด

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ถอนนางสนิท คงดิษฐ์ ผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตาย และมีคำสั่งตั้งนางชำเรือง มาใหญ่ ผู้คัดค้านที่ 1 กับนางเฉลียว คงดิษฐ์ ผู้คัดค้านที่ 2 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทร เกตุจิตรผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตาย ผู้ตายทำพินัยกรรมตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ร.6 ไว้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายเป็นเงิน 10,000 บาท เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม2540 โดยบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ อีก ตามเอกสารหมาย ร.12 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.6 เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.6 ไม่ได้ลงวัน เดือน ปี ไว้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 บัญญัติว่า พินัยกรรมต้องทำเป็นหนังสือ ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้นและผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น ดังนั้นแม้พินัยกรรมดังกล่าวจะมีพยานลงลายมือชื่อสองคน แต่มิได้ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรม ก็ต้องถือว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1656 ย่อมเป็นโมฆะ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1705 เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะ ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายตามพินัยกรรมไม่มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลล่างทั้งสองให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกอันจะทำให้มีสิทธิร้องขอถอนผู้จัดการมรดกหรือไม่ ตามบันทึกเอกสารหมาย ร.12 มีข้อความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับเงินจากผู้ร้องในนามผู้จัดการมรดกของนางสุนทร เกตุจิตร ไปในวันนี้แล้วและจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทในทรัพย์มรดกรายนี้ที่จะมีขึ้นในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในอนาคตให้หมดไป โดยผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายในขณะนั้นยอมจ่ายเงินให้ผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 10,000บาท แล้วผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้น จึงเป็นการประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 นอกจากนี้เงินจำนวน 10,000 บาทที่ผู้ร้องจ่ายให้ผู้คัดค้านที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ได้ความจากพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองว่าเป็นเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ของลูกค้า ธกส. อำเภอสรรพยา ซึ่งผู้ตายระบุไว้ในใบสมัครว่า เมื่อผู้ตายถึงแก่กรรมแล้วให้ผู้ร้องเป็นผู้รับเงินสงเคราะห์ เงินดังกล่าวย่อมมิใช่ทรัพย์มรดก เพราะมิใช่ทรัพย์สินที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตายดังนั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 1 รับเงินดังกล่าวไป10,000 บาท แล้วทำบันทึกว่าจะไม่เรียกร้องใด ๆ ทั้งสิ้นอีก จึงเป็นการสละมรดกทั้งหมดมิใช่สละมรดกเพียงบางส่วน การประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย ร.12 ดังกล่าวจึงมีผลเป็นการสละมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612และไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1613 เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 สละมรดกแล้ว มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1615 ผู้คัดค้านที่ 1จึงไม่ใช่ทายาทและผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ไม่มีอำนาจมาร้องขอถอนผู้จัดการมรดกที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้คัดค้านที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนางเฉลียว คงดิษฐ์ ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสุนทร เกตุจิตร ผู้ตายแต่ผู้เดียว ให้ยกคำร้องขอของนางชำเรือง มาใหญ่ ผู้คัดค้านที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share