คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3773/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุนำเงินส่วนตัวออกให้กู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยซึ่งไม่มีกฎหมายใดห้ามไว้และไม่มีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายห้ามจึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโจทก์มีสิทธินำสัญญากู้ยืมเงินมาฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยจากจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 134,650 บาทตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกวันที่ 1 ของเดือน และชำระต้นเงินคืนภายในวันที่ 5 มกราคม 2537จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้จำนวนดังกล่าวไปแล้วในวันทำสัญญากู้โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1นับแต่กู้เงินจากโจทก์ไป จำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาโดยไม่ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์และเมื่อถึงกำหนดชำระต้นเงินคืน จำเลยที่ 1ก็ไม่ชำระแก่โจทก์ โจทก์ทวงถามหลายครั้งแล้ว แต่จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 134,650 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันกู้ถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ย 11,288 บาท รวมเป็นเงิน145,930 บาท และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 134,650 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 145,930 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 134,650 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้ยืมเงินและรับเงินจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองรับว่าได้ทำสัญญากู้ยืมและค้ำประกันจริง แต่ทำไปเพราะถูกข่มขู่ โจทก์แถลงว่าเงินที่ให้กู้ยืมไปเป็นเงินส่วนตัวของโจทก์เอง ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยาน และนัดฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาตามพยานหลักฐานในสำนวน ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุนำเงินส่วนตัวให้จำเลยที่ 1 กู้ โดยคิดดอกเบี้ย มีปัญหาวินิจฉัยตามที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นั้นไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีกฎหมายห้ามพระภิกษุทำนิติกรรมให้กู้ยืมเงิน และการทำนิติกรรมดังกล่าวไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี เพราะเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ทั้งโจทก์คิดดอกเบี้ยโดยไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย นิติกรรมการกู้ยืมเงินจึงไม่ตกเป็นโมฆะ เห็นว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นพระภิกษุนำเงินส่วนตัวออกให้บุคคลอื่นกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ยนั้น ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายใดห้ามไว้ พระภิกษุก็เป็นบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย การให้กู้ยืมเงินนั้นก็เป็นการสงเคราะห์ผู้ที่เดือดร้อนได้ทางหนึ่ง ดอกเบี้ยที่เกิดจากการให้กู้ยืมเงินก็เป็นค่าตอบแทนหรือประโยชน์อย่างหนึ่งซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยคงมีแต่กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเท่านั้น กรณีนี้โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน ก็ไม่ปรากฏว่ามีการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ยังบัญญัติไว้ชัดว่า หนี้เงินนี้ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ดังนั้น การที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยด้วย จึงไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโจทก์จึงมีสิทธินำสัญญากู้ยืมเงินมาฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนกรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1622 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามพระภิกษุเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะทายาทโดยธรรม เว้นแต่จะสึกจากสมณะเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ ก็มิได้ห้ามขาดมิได้พระภิกษุรับมรดกเพราะเปิดโอกาสให้พระภิกษุสึกจากสมณะเพศมาฟ้องเรียกร้องเอาได้ อย่างไรก็ดีกรณีเรียกเอามรดกก็เป็นคนละเรื่องกับการเรียกเอาเงินที่กู้ยืมพร้อมด้วยดอกเบี้ยคืน จึงไม่อาจนำมาแปลปรับด้วยกันได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่านิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะและยกฟ้องโจทก์ จึงไม่ชอบ และในประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองรับว่าได้ทำสัญญากู้ยืมและสัญญาค้ำประกันจริงแต่ทำไปเพราะถูกข่มขู่ โจทก์แถลงว่าเงินที่ให้กู้ยืมเป็นเงินส่วนตัวของโจทก์เอง ศาลชั้นต้นเห็นว่าตามสำนวนคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยานจำเลยทั้งสอง และรอฟังคำพิพากษาในวันเดียวกันนั้นเห็นได้ว่าลำพังแต่ข้อเท็จจริงในคำฟ้องคำให้การและเอกสารที่ศาลชั้นต้นได้รับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2537 ก็ยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความว่าด้วยการพิจารณา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) และมาตรา 247ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาสืบพยานและทำคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share