คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องคดีโดยยังไม่มีหลักฐานให้ความยินยอมจากภริยาเป็นเพียงข้อบกพร่องเกี่ยวกับความสามารถซึ่งศาลจะพึงสั่งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขเสียก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา56ได้แต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งให้โจทก์แก้ไขก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่10)พ.ศ.2533ใช้บังคับซึ่งมาตรา1476ประกอบด้วยมาตรา1477ที่แก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติให้มีผลว่าสำหรับการจัดการทรัพย์สินดังเช่นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้สามีหรือภริยามีอำนาจจัดการหรือฟ้องคดีได้โดยมิได้ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งดังนั้นเท่ากับมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับความสามารถของโจทก์แล้วโจทก์จึงฟ้องคดีได้เองโดยหาจำต้องได้รับความยินยอมของภริยาเสียก่อนไม่ การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับพ. แม้จะยอมให้มีการผ่อนชำระราคาที่ดินกันก็ตามแต่เมื่อไม่ปรากฏมีข้อสัญญาว่าหากชำระราคาครบถ้วนแล้วจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกันภายหลังจึงเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดมิใช่เป็นสัญญาจะซื้อขายเมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา456หลังจากจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากพ. แล้วได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาโดยการสร้างรั้วมีลักษณะเป็นการถาวรล้อมรอบที่พิพาทและปลูกสร้างโรงเก็บของและโรงเก็บรถซึ่งพ. ก็รู้เห็นตลอดมาแต่มิได้แสดงเจตนาหวงแหนที่ดินพิพาทหรือห้ามปรามจำเลยแต่อย่างใดกลับยอมให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบตลอดมาติดต่อกันเป็นเวลากว่า10ปีจำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1382 ก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทโจทก์เห็นอยู่ก่อนแล้วว่าที่ดินพิพาทมีการล้อมรั้วและมีบ้านหลังเล็กๆปลูกอยู่ซึ่งพง บอกโจทก์ว่าเป็นบ้านของจำเลยลูกพี่ลูกน้องโจทก์ถ้าโจทก์ต้องการก็จะให้รื้อไปแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สอบถามจำเลยให้แน่ชัดเสียก่อนที่จะซื้อที่ดินพิพาทจากพ.ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะอะไรอาศัยพ.อยู่ในที่ดินพิพาทหรือไม่ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้ขอโฉนดที่ดินพิพาทจากพ. มาดูเพื่อตรวจสอบว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่มากน้อยเพียงใดการที่โจทก์ตัดสินใจซื้อที่ดินพิพาทซึ่งมีราคาถึง770,000บาทโดยอาศัยการมองจากหน้าต่างบ้านพ.เพียงอย่างเดียวมิได้เข้าไปดูที่ดินพิพาทด้วยตนเองผิดวิสัยวิญญูชนโดยทั่วไปที่จะพึงกระทำจึงเป็นพิรุธอย่างยิ่งถือได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตจำเลยย่อมยกการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11850, 11851 และ 3284 โดยซื้อมาจากนางพงษ์ศรีที่ดินทั้งสามแปลงนี้มีโรงเรือนของจำเลยปลูกอยู่ โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์ต่อไปจึงบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินโจทก์ให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกจากที่ดิน หากจำเลยไม่รื้อถอนโจทก์จะเป็นผู้รื้อถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดิน และรื้อถอนโรงเรือนออกจากที่ดินโจทก์ จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาให้ฟ้องคดีโจทก์ซื้อที่ดินจากนางพงษ์ศรีมีเจตนาลวงเพราะไม่มีการซื้อขายกันจริง โจทก์จึงได้ที่ดินโดยไม่สุจริตและไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อปี 2516 จำเลยได้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลงจากนางพงษ์ศรีเป็นเงิน 440,000 บาท จำเลยได้ครอบครองที่ดินด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาจนปัจจุบันเกินกว่า 10 ปีแล้วที่ดินทั้งสามแปลงจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ให้โจทก์ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อที่ดินทั้งสามแปลงให้เป็นของจำเลยหากโจทก์เพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
โจทก์ให้การและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ฟ้องแย้งของจำเลยขัดกันเพราะจำเลยอ้างว่าจำเลยได้สิทธิโดยการครอบครองปรปักษ์และยังอ้างว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากนางพงษ์ศรี ฟ้องแย้งจึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 11850 เนื้อที่11 ตารางวา โฉนดเลขที่ 11851 เนื้อที่ 11 ตารางวา และโฉนดเลขที่ 3284 เนื้อที่ 22 ตารางวา รวม 44 ตารางวา (ตามแนวรั้วที่จำเลยครอบครอง) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 11850, 11851 และ 3284 ทั้งนี้ที่ดินส่วนที่พิพาททั้งสามแปลงปรากฏตามแนวรั้วที่จำเลยครอบครอง ให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาท ยกฟ้องแย้งของจำเลยคำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่มีหนังสือยินยอมจากภริยา โจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่เห็นว่า เมื่อโจทก์ยอมรับว่า โจทก์ได้ที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรสที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส แต่การที่โจทก์ฟ้องคดีโดยยังไม่มีหลักฐานให้ความยินยอมจากภริยานั้นก็เป็นเพียงข้อบกพร่องเกี่ยวกับความสามารถซึ่งศาลจะพึงสั่งให้โจทก์ดำเนินการแก้ไขเสียก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 ได้แต่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งให้โจทก์แก้ไข อย่างไรก็ดีก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 ใช้บังคับซึ่งมาตรา 1476 ประกอบด้วยมาตรา 1477 ที่แก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติให้มีผลว่า สำหรับการจัดการทรัพย์สินดังเช่นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ สามีหรือภริยามีอำนาจจัดการหรือฟ้องคดีได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนี้เท่ากับมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับความสามารถของโจทก์แล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีได้เองโดยหาจำต้องได้รับความยินยอมจากภริยาเสียก่อนไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยซื้อที่ดินพิพาทมาจากนางพงษ์ศรี การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับนางพงษ์ศรี แม้จะยอมให้มีการผ่อนชำระราคาที่ดินกันก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏมีข้อสัญญาว่า หากชำระราคาครบถ้วนแล้วจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกันภายหลัง เช่นนี้จึงเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดมิใช่เป็นสัญญาจะซื้อขาย เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 หลังจากจำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากนางพงษ์ศรีแล้วได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาโดยการสร้างรั้วมีลักษณะเป็นการถาวรล้อมรอบที่ดินพิพาทและปลูกสร้างโรงเก็บของและโรงเก็บรถ ซึ่งนางพงษ์ศรีก็รู้เห็นตลอดมา แต่มิได้แสดงเจตนาหวงแหนที่ดินพิพาทหรือห้ามปรามจำเลยแต่อย่างใด กลับยอมให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบตลอดมาติดต่อกันเป็นเวลากว่า10 ปี ดังนั้นจำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
ปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่าก่อนที่โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทโจทก์เห็นอยู่ก่อนแล้วว่า ที่ดินพิพาทมีการล้อมรั้วและมีบ้านหลังเล็ก ๆ ปลูกอยู่ ซึ่งนางพงษ์ศรีบอกโจทก์ว่าเป็นบ้านของจำเลยลูกพี่ลูกน้องโจทก์ ถ้าโจทก์ต้องการก็จะให้รื้อไป แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สอบถามจำเลยให้แน่ชัดเสียก่อนที่จะซื้อที่ดินพิพาทจากนางพงษ์ศรีว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะอะไรอาศัยนางพงษ์ศรีอยู่ในที่ดินพิพาทหรือไม่ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้ขอโฉนดที่ดินพิพาทจากนางพงษ์ศรีมาดูเพื่อตรวจสอบว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่มากน้อยเพียงใด การที่โจทก์ตัดสินใจซื้อที่ดินพิพาท ซึ่งมีราคาถึง 770,000 บาท โดยอาศัยการมองจากหน้าต่างบ้านนางพงษ์ศรีเพียงอย่างเดียวมิได้เข้าไปดูที่ดินพิพาทด้วยตนเองผิดวิสัยวิญญูชนโดยทั่วไปที่จะพึงกระทำจึงเป็นพิรุธอย่างยิ่ง รูปคดีรับฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต จำเลยย่อมยกการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share