แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ในคดีนี้ว่าร่วมกันผลิตม่านเหล็กบังตาตามสิทธิบัตรของโจทก์ และร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ เป็นละเมิดต่อโจทก์ ดังนี้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โดยที่คดีก่อนกับคดีนี้มีประเด็นอย่างเดียวกันว่า จำเลยได้ร่วมกันผลิตและขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งม่าน-เหล็กบังตา อันเป็นการกระทำเทียมหรือเลียนแบบละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์หรือไม่แม้คดีนี้โจทก์จะมีคำขอเพิ่มเติมโดยเรียกค่าเสียหายมาด้วย แต่มูลคดีที่โจทก์ฟ้องก็เป็นเรื่องเดียวกัน มีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรง จำเลยผลิตและขายม่านบังตาก่อนเกิดเหตุและตลอดมา การที่จำเลยต้องหยุดการผลิตเนื่องจากถูกโจทก์แจ้งความกล่าวหาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดทางอาญาและเจ้าพนักงานตำรวจได้ยกเครื่องจักรไป ต่อมาเมื่อได้รับคืนเครื่องจักรที่ยึดจำเลยก็ได้ใช้เครื่องผลิตม่านบังตาตามปกติต่อมา ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน จะถือว่าขาดตอนแล้วและเริ่มนับใหม่หาได้ไม่ ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 เป็นฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173วรรคสอง (1) และกรณีที่จะเป็นฟ้องซ้อน นอกจากคดีจะต้องมีประเด็นอย่างเดียวกันแล้ว จำเลยยังจะต้องเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีก่อนด้วย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยอื่นกระทำละเมิดต่อสิทธิบัตรของโจทก์ แม้จะมิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4 กระทำในฐานะส่วนตัวก็หาใช่ว่าจะไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เพราะหากฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3และที่ 4 ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และโจทก์เสียหายเพียงใดศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาตามลำดับชั้นศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1), 247