แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มีความหมายว่านายจ้างซึ่งอยู่ในต่างประเทศก็ดี หรือตัวแทนของนายจ้างดังกล่าวนั้นก็ดี จะดำเนินการรับสมัครคนหางานเพื่อไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างโดยตรงโดยไม่ผ่านการจัดหาของสำนักงานจัดหางานในประเทศ ไทย หรือกรมแรงงานนั้นไม่ได้ หากนายจ้างหรือตัวแทนของนายจ้างฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ ก็จะมีความผิดตามมาตรา 82 และบทบัญญัติมาตรา 50 ก็มิได้ห้ามไว้ว่า ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานจะเป็นตัวแทนของนายจ้างไม่ได้ ดังนั้นจำเลยในฐานะเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดหางานอาจมีฐานะเป็นตัวแทนของนายจ้างอีกฐานะหนึ่งได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท ซ. ตัวการ ซึ่งมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสามไปทำงานกับบริษัท ซ.ในต่างประเทศ ต่อมาโจทก์ทั้งสามลาออกจากงานเพราะบริษัท ซ.ค้างค่าจ้าง จำเลยในฐานะตัวแทนบริษัท ซ. กับเป็นนายจ้างของโจทก์ จะต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างดังกล่าวให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับอนุญาตจากกรมแรงงานให้เป็นตัวแทนนายหน้าทำการสอบคัดเลือกและจัดส่งคนหางานไปทำงานเป็นลูกจ้างบริษัท ซ. จำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนของบริษัท ซ. ในฐานะนายจ้างหรือตัวแทนของนายจ้าง จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1จำนวน 123,750 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จำนวนคนละ 52,500 บาท
จำเลยทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 50ประกอบด้วยมาตรา 82 ซึ่งเป็นบทลงโทษชี้ให้เห็นได้ชัดว่าชื่อของบริษัทจำเลยตลอดจนวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจการต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎข้อบังคับ และระเบียบของกรมแรงงาน จำเลยย่อมอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนนายหน้ารับจัดหางาน มิใช่ตัวแทนนายจ้างหรือเป็นนายจ้างของโจทก์ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 50 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้นายจ้างในต่างประเทศหรือตัวแทน ทำการรับสมัครเพื่อหาลูกจ้างในประเทศไทยด้วยตนเองเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะติดต่อให้สำนักงานจัดหางานหรือกรมแรงงานจัดหาให้” ซึ่งหมายความว่า นายจ้างซึ่งอยู่ในต่างประเทศก็ดีหรือตัวแทนของนายจ้างดังกล่าวนั้นก็ดีจะดำเนินการรับสมัครคนหางานเพื่อไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างโดยตรงโดยไม่ผ่านการจัดหาของสำนักงานจัดหางานในประเทศไทยหรือกรมแรงงานนั้นไม่ได้ หากนายจ้างหรือตัวแทนของนายจ้างฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ ก็จะมีความผิดตามมาตรา 82 และตามบทบัญญัติของมาตรา 50 ดังกล่าวก็มิได้ห้ามไว้ว่า ผู้รับใบอนุญาตจัดหางานจะเป็นตัวแทนของนายจ้างไม่ได้ จำเลยในฐานะเป็นผู้รับใบอนุญาตจัดหางานอาจมีฐานะเป็นตัวแทนของนายจ้างอีกฐานะหนึ่งได้ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกรมแรงงานตลอดมา ทั้งให้มีการทำสัญญารับผิดชอบระหว่างคนหางานกับบริษัทจัดหางานมีการอบรมชี้แจงคนหางานก่อนออกเดินทางไปต่างประเทศ จำเลยจึงอยู่ในฐานะเป็นนายหน้าจัดหางานนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 และสัญญาจ้างแรงงานตามเอกสารหมาย จ.2 จ.3 และ จ.4ซึ่งโจทก์ทั้งสามทำกับบริษัทโซเรเล็ก เฟรนช์ จำกัด โดยนางสาวพัชราวดี ศรีเปารยะ ผู้จัดการของจำเลยลงชื่อในฐานะเป็นคู่สัญญากับโจทก์ และประทับตราของจำเลย จึงรับฟังว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทโซเรเล็ก เฟรนช์ จำกัด ดังนี้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยในฐานะตัวแทนนายจ้างของโจทก์ชำระค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามสำนวนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.