คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เขียนข้อความในหนังสือพิมพ์ของโจทก์กล่าวหา ส. หรือน. หรือมัคคุเทศก์หมายเลข 116 ซึ่งหมายถึงจำเลยว่า มีพฤติการณ์หลอกลวงต้มตุ๋นนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ชอบหาโสเภณีราคาถูกไปย้อมแมวว่าเป็นนางแบบ เรียกค่าตัวสูงลิ่วและชักชวนชาวมาเลเซียมาเปิดซ่องที่หาดใหญ่ จำเลยย่อมเข้าใจโดยสุจริตว่า ข้อความในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวเป็นข้อความที่กล่าวหาจำเลย น่าจะทำความเสื่อมเสียหรือกระทบกระเทือนต่ออาชีพและฐานะของจำเลยซึ่งทำงานเป็นมัคคุเทศก์ การที่จำเลยมีจดหมายไปถึงนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ให้รับทราบพฤติการณ์ของโจทก์ว่าไม่ให้ความร่วมมือแก่สมาคมดังกล่าว และเป็นคนบ่อนทำลายเศรษฐกิจของชาติด้านการท่องเที่ยว ควรหลีกเลี่ยงการสมาคมและให้ข่าวแก่โจทก์ เพราะอาจนำบทความไปเผยแพร่เกิดความเสียหายแก่วงการธุรกิจการท่องเที่ยว ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม และเป็นการป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เฉพาะข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของและเป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ก้าวใหม่ เมื่อวันที่16 กันยายน 2528 โจทก์เขียนคอลัมน์สนุกกับเรื่องแปลกแต่จริงโดยใช้ชื่อว่า หลอง วงศ์จันทร์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียชื่อ “ฮก” ว่า นายฮกเป็นแขกประจำของมัคคุเทศก์ชื่อ ส. หรือชื่อจริงขึ้นต้นว่า น. หรือมัคคุเทศก์หมายเลข 116นายฮกติดพันนักร้องชื่อ อ. ได้ไปสู่ขอกับบิดามารดา อ.ที่กรุงเทพฯ ตกลงเอาแหวนเพชร สร้อยจี้เพชร และบ้าน 1 หลัง เป็นสินสอดของหมั้น เมื่อกลับมาถึงหาดใหญ่ นายฮกไปปรึกษา ส.ว่าถูกหลอกหรือไม่ ส. ยุให้นายฮกขอแหวนกับสร้อยคืน แล้วทั้งสองช่วยกันข่มขู่ อ. แต่ตกลงกันไม่ได้ อ. จึงแจ้งความ เจ้าพนักงานตำรวจให้โจทก์ช่วยไกล่เกลี่ย ในที่สุดตกลงกันโดยนายฮกยอมจ่ายเงิน 8,000 บาท ให้ อ. พอ ส. ทราบจึงต่อว่าโจทก์หาว่าโจทก์กรรโชกทรัพย์ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 หน้า 6 และในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวหน้า 2 ในคอลัมน์ทายปัญหาเชาว์ มีข้อความเกี่ยวพันกับข้อความในคอลัมน์สนุกกับเรื่องแปลกแต่จริง กล่าวหาบุคคลในภาพถ่ายว่าเป็นผู้หลอกลวงชาวมาเลเซีย และชี้แนะว่าบุคคลดังกล่าวคือมัคคุเทศก์หมายเลข 116 ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กันยายน2528 จำเลยจึงมีจดหมายเอกสารหมาย จ.2 ไปถึงนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย มีข้อความตามฟ้องโจทก์ กล่าวหาว่าโจทก์เป็นคนบ่อนทำลายเศรษฐกิจของชาติด้านการท่องเที่ยว ไม่สมควรให้ข่าวแก่โจทก์ เพราะอาจนำออกเผยแพร่ในทางเสื่อมเสียต่อวงการธุรกิจการท่องเที่ยว พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยเขียนจดหมายมีใจความดังกล่าวไปถึงนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยก็เพราะโจทก์ได้เขียนข้อความในหนังสือพิมพ์ของโจทก์กล่าวหา ส.หรือ น. ซึ่งเป็นมัคคุเทศก์หมายเลข 116 ว่ามีพฤติการณ์หลอกลวงนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียและเป็นผู้พูดข่มขู่ อ. หญิงนักร้องที่นายฮกชาวมาเลเซียมาติดพัน และในคอลัมน์ทายปัญหาเชาว์ฉบับเดียวกันมีข้อความกล่าวหาว่าบุคคลในภาพถ่ายชอบต้มตุ๋นชาวมาเลเซียโดยมีพฤติการณ์เช่นเดียวกับในคอลัมน์สนุกกับเรื่องแปลกแต่จริง และยังกล่าวหาว่าบุคคลดังกล่าวชอบหาโสเภณีราคาถูกไปย้อมแมวว่าเป็นนางแบบเรียกค่าตัวสูงลิ่วจากชาวมาเลเซีย เป็นผู้ชักชวนชาวมาเลเซียมาเปิดซ่องที่หาดใหญ่ ตอนท้ายมีข้อความบอกใบ้ว่าชายในภาพถ่ายมีอาชีพเป็นมัคคุเทศก์ในหาดใหญ่ สงขลาอยากรู้ให้ลองถามไกด์เบอร์ 116 ซึ่งภาพถ่ายของบุคคลในคอลัมน์ดังกล่าวแม้จะมีสีดำคาดหน้าบริเวณตาไว้ก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์เปรียบเทียบกับภาพถ่ายของจำเลยในบัตรประจำตัวมัคคุเทศก์ เอกสารหมาย ล.5 แล้ว เห็นได้ว่า เป็นภาพถ่ายของบุคคลคนเดียวกัน และหมายเลขประจำตัวของจำเลยก็คือมัคคุเทศก์หมายเลข 116 ประกอบกับชื่อจริงของจำเลยก็ขึ้นต้นด้วย น. ดังนี้ จำเลยย่อมเข้าใจโดยสุจริตว่าข้อความในคอลัมน์ทั้งสองในหนังสือพิมพ์ของโจทก์ เป็นข้อความที่กล่าวหาจำเลย เมื่อข้อความนั้นจำเลยเห็นว่าน่าจะทำความเสื่อมเสียหรือกระทบกระเทือนต่ออาชีพและฐานะของจำเลยซึ่งเป็นมัคคุเทศก์ทำงานเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศและธุรกิจการท่องเที่ยว และเห็นว่าการลงข่าวของโจทก์มีลักษณะเป็นภัยต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศอันจะมีผลกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจของชาติ จำเลยจึงมีจดหมายไปถึงนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยให้รับทราบพฤติการณ์ของโจทก์ว่า เป็นผู้ไม่ให้ความร่วมมือแก่สมาคมฯ และเป็นคนบ่อนทำลายเศรษฐกิจของชาติด้านการท่องเที่ยว ควรจะหลีกเลี่ยงการสมาคมและการให้ข่าวแก่โจทก์ เพราะอาจจะนำบทความไปเผยแพร่ทำให้เกิดความเสียหายแก่วงการธุรกิจการท่องเที่ยว ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม และเป็นการป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share