แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้ข้อความที่พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ฟ้องว่าจำเลยลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมจะเป็นคนละบทความกันและลงพิมพ์ต่างหน้ากันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ แต่ก็เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมในหนังสือพิมพ์ ซึ่งจำเลยเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาฉบับเดียวกัน ทั้งเป็นข้อความที่กล่าวถึงโจทก์ร่วมในเรื่องเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวและพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์กับโจทก์คดีนี้ต่างก็เป็นพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(5),28(1) ด้วยกันการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยอีกจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136,326, 328 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อน พิพากษายกฟ้อง โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับในคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์กับโจทก์ในคดีนี้ต่างฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมในหนังสือพิมพ์โคราชรายวันฉบับเดียวกันคือฉบับที่ 890ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 แม้ข้อความที่ฟ้องแต่ละคดีจะเป็นคนละบทความกันและลงพิมพ์ต่างหน้ากันก็ตาม แต่บทความที่โจทก์ในคดีนี้และพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ฟ้อง ลงในหนังสือพิมพ์ซึ่งจำเลยเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ฉบับเดียวกัน ทั้งเป็นข้อความที่กล่าวถึงโจทก์ร่วมในเรื่องเดียวกัน คือเรื่องการบริหารงานเทศบาลเมืองนครราชสีมาของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียว คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีข้างต้นจึงเป็นเรื่องเดียวกัน พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์โจทก์ในอีกคดีหนึ่งกับโจทก์ในคดีนี้ต่างเป็นพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(5), 28(1) จึงเป็นพนักงานอัยการโจทก์ด้วยกัน การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยอีกจึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์ต้องกันมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน