คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4881/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามราคาที่แท้จริง แต่คดีทั้งสองโจทก์อ้างเหตุเหมือนกันว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันฉ้อฉลซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายต่ำกว่าราคาท้องตลาด คดีทั้งสองจึงมีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองได้สมคบกันซื้อขายที่ดินในราคาที่ต่ำกว่าราคาท้องตลาดทำให้ทายาทเสียหายหรือไม่เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วคู่ความมิได้อุทธรณ์แต่คดียังไม่ถึงที่สุด ฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงเป็นการดำเนินการกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกทั่วไปของนายคำตาล กองกิจ ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะที่ดิน 8 แปลง ซึ่งรวมถึงที่ดิน น.ส.3 เล่มที่ 5 หน้า 112เลขที่ 15 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 98 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเรียกว่า ตลาดสดบ้านทราย อันประกอบด้วยอาคารไม้ชั้นเดียว 1 หลัง กับห้องแถวไม้ชั้นเดียวและสองชั้น 30 ห้องจำเลยที่ 2 เป็นบุตรเขยจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2530จำเลยที่ 1 นำคำสั่งศาลที่ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกเฉพาะไปขอรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวมาเป็นของตนในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วคบคิดกันกับจำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโอนขายต่อไป ให้จำเลยที่ 2ในราคาเพียง 200,000 บาท ซึ่งราคาที่แท้จริงไม่ต่ำกว่า2,000,000 บาท การตกลงดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีส่วนได้เสียด้วยเพราะจำเลยที่ 2 เป็นบุตรเขยของจำเลยที่ 1 แต่มิได้รับอนุญาตจากศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 เงินที่ขายได้ก็ไม่นำมาแบ่งปันแก่ทายาท อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยไม่สุจริตการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้ กองมรดกของนายคำตาลหรือคำตานเสียหาย โจทก์และทายาทอื่นขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ราคาที่แท้จริงแก่กองมรดกแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองมรดก
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายคำตาลหรือคำตานเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเมื่อปี 2525 นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา โดยโจทก์และทายาทอื่นไม่เคยมาเกี่ยวข้องจำเลยที่ 1 เคยปฏิเสธการแบ่งมรดกให้แก่โจทก์กับทายาทอื่นหลายครั้งโจทก์ทราบถึงการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 แล้ว แต่มิได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปีการซื้อขายเสร็จสิ้นเมื่อปี 2530 แต่โจทก์ไม่ฟ้องเรียกคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เนื่องจากการจัดมรดกภายใน 5 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ราคาที่ซื้อขาย 200,000 บาท นั้นสูงพอสมควรในขณะทำการซื้อขายแล้ว และจำเลยที่ 2 รับซื้อไว้โดยสุจริตเสียค่าตอบแทน ไม่จำต้องใช้ราคาทรัพย์สิน โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 150/2534หมายเลขแดงที่ 71/2535 และศาลได้มีคำพิพากษาในประเด็นข้อพิพาทแล้ว คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกทั่วไปของนายคำตาลหรือคำตาน กองกิจผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกที่ดินของผู้ตาย 8 แปลงรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย เมื่อปี 2530 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 200,000 บาท โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันฉ้อฉลซื้อขายที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของผู้ตายต่ำกว่าราคาท้องตลาดในขณะนั้น ศาลชั้นต้นฟังว่าคดีขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 71/2535 ของศาลชั้นต้น โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าฟ้องคดีนี้เป็นประเด็นเดียวกับคดีก่อนหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 71/2535โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองและในคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามราคาที่แท้จริงก็ตามแต่ในคดีทั้งสองดังกล่าวโจทก์อ้างเหตุในการฟ้องเหมือนกันว่าจำเลยทั้งสองสมคบกันฉ้อฉลซื้อขายที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายต่ำกว่าราคาท้องตลาด คดีทั้งสองจึงมีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองได้สมคบกันซื้อขายที่ดินพิพาทในราคาที่ต่ำกว่าราคาท้องตลาดทำให้ทายาทเสียหายหรือไม่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้จากสำนวนในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 71/2535คู่ความมิได้อุทธรณ์ แต่คดียังไม่ถึงที่สุด การฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share