คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ช. เป็นผู้มีอำนาจในการปกป้องรวมทั้งการฟ้องคดีในศาลไทยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 และตามคำฟ้องก็บรรยายว่า ช. กระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 ประกอบกับท้ายคำฟ้อง ช. ได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 2 ระบุว่าโจทก์ทั้งสองและในใบแต่งทนายความก็ได้ระบุว่าลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 กับในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 ถือได้ว่า ช. ลงลายมือชื่อในคำฟ้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 แล้ว คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(7)
ที่ประชุมบริษัทโจทก์มีมติให้แต่งตั้ง ป. เป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทโจทก์ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2540 บริษัทโจทก์จึงยังคงตั้งอยู่เพื่อให้ ป. ดำเนินการชำระบัญชี เป็นผู้แทนของโจทก์สำหรับสิทธิทุกอย่างการดำเนินการและความรับผิดชอบทั้งหมด ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทโจทก์อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ภารกิจในการยกเลิกกิจการของโจทก์ยังคงดำเนินอยู่และเป็นผู้แทนของโจทก์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการยกเลิกกิจการของโจทก์ตามขั้นตอนของกฎหมายโดยไม่มีกำหนดเวลา บริษัทโจทก์จึงหาได้สิ้นสภาพเป็นนิติบุคคลไปไม่เมื่อ ป. ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์และมีอำนาจดำเนินการทุกเรื่องแทนโจทก์ตั้งแต่วันที่31 มกราคม 2540 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ช. เป็นผู้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ช. ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
สิทธิบัตรไทยของโจทก์เป็นสิทธิบัตรกรรมวิธี จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรฯ เฉพาะกรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรนั้นเท่านั้น ไม่ได้รับความคุ้มครองสำหรับกรรมวิธีการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงเข้าด้วยกันด้วยวิธีขึ้นรูปโดยใช้ความร้อนหรือวิธีขึ้นรูปแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็น เมื่อจำเลยร่วมกันผลิตข้อต่อของแท่งเหล็กเส้นตามสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตโดยการขยายปลายเหล็กเส้นเสริมแรงให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้นโดยการตีขึ้นรูป สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์นี้จึงครอบคลุมถึงการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงโดยมีการทำให้ปลายเหล็กเส้นเสริมแรงขยายใหญ่ขึ้น ก่อนทำเกลียวด้วยกรรมวิธีการตีขึ้นรูปทุกกรรมวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตีขึ้นรูปแบบเย็นแบบร้อน หรือแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็นซึ่งครอบคลุมถึงกรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ตามสิทธิที่ได้รับมาแม้มีกรรมวิธีการผลิตเช่นเดียวกับกรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยจำเลยมีเจตนากระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์การกระทำของจำเลยดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรฯ มาตรา 85 ประกอบด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522มาตรา 36, 77, 85 และ 88 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และ 83 และ ริบของกลางทั้งหมด

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 36(2), 85 และ88 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 และ 83 ฐานร่วมกันผลิต มีไว้เพื่อขายเสนอขายซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิบัตร ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปีและปรับ 150,000 บาท เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ของกลางริบ ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าโจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ตามคำฟ้องโจทก์ที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์กรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีต ตามสิทธิบัตรไทยเลขที่ 4575 เอกสารหมาย จ.6 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายชอง มารี ปิตอง เป็นผู้มีอำนาจในการปกป้องรวมทั้งการฟ้องคดีในศาลไทยเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.2 และ จ.35 โดยมีโนตารีปับลิกและสถานเอกอัครราชทูตไทยณ กรุงปารีส รับรอง และตามคำฟ้องก็บรรยายว่านายชองกระทำการในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 ประกอบกับท้ายคำฟ้อง นายชองได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 2 ระบุว่าโจทก์ทั้งสอง และในใบแต่งทนายความก็ได้ระบุว่าลงลายมือชื่อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 กับในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 ถือได้ว่านายชองลงลายมือชื่อในคำฟ้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 และในฐานะกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจของโจทก์ที่ 2 แล้ว คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(7) ข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่าโจทก์ที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อในคำฟ้องจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลเนื่องจากมีการจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานการประชุมสามัญวาระพิเศษของบริษัทโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2540 ในเอกสารหมาย จ.35 ว่า ที่ประชุมได้แต่งตั้งให้นายปาสกาล ชุบติลเป็นผู้ชำระบัญชี โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการและมอบอำนาจให้นายปาสกาลดำเนินการเกี่ยวกับยกเลิกกิจการภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายข้อบังคับและเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการโอนทรัพย์สินและให้ความเห็นชอบบัญชีขั้นสุดท้ายสำหรับการยกเลิกกิจการ ให้นายปาสกาลเป็นผู้แทนของบริษัทสำหรับสิทธิทุกอย่าง การดำเนินการและความรับผิดชอบทั้งหมดดำเนินการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ภารกิจในการยกเลิกกิจการของบริษัทโจทก์ที่ 1 ยังคงดำเนินอยู่การยกเลิกและการจำหน่ายทั้งหมดหรือบางส่วนขายเลหลัง หรือขายปลีกในทุกรูปแบบที่เห็นว่าจะเป็นผลดีก่อให้เกิดประโยชน์หรือรายได้ต่อบริษัท ดำเนินการขายหรือโอนมูลค่าการซื้อขายภายใต้เงื่อนไขที่พิจารณาเห็นว่าเหมาะสมโดยไม่ต้องทำความตกลงกันแต่อย่างใด จัดเก็บเงินรายได้ทั้งหมดของโจทก์ที่ 1 ออกใบเสร็จรับเงินจัดการเกี่ยวกับการจัดแบ่งผลประโยชน์ทั้งหมด ดำเนินการเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีและการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย การเจรจาต่อรอง การประนีประนอม และระงับสิทธิใด ๆ ทั้งหมดดำเนินการด้านกฎหมายและคดีความต่าง ๆ เรียกร้อง และป้องกันเป็นผู้แทนโจทก์ที่ 1ในการดำเนินการแก้ไขหรือที่เกี่ยวกับการยกเลิกกิจการตามขั้นตอนของกฎหมาย และให้นายปาสกาลดำเนินการทั้งหมดและจัดการทุกเรื่องที่จำเป็นโดยทั่วไปโดยไม่มีข้อจำกัดเพื่อให้การจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินและการยกเลิกกิจการของบริษัทโจทก์ที่ 1เสร็จบริบูรณ์ เอกสารรายงานการประชุมสามัญวาระพิเศษในเอกสารหมาย จ.35ดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศโดยนายมาดแลน เดชาแนล ได้รับรองว่า เอกสารฉบับนี้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส จากรายงานการประชุมดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 ซึ่งที่ประชุมบริษัทโจทก์ที่ 1 มีมติให้แต่งตั้งนายปาสกาลเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทโจทก์ที่ 1 ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส บริษัทโจทก์ที่ 1 ยังคงตั้งอยู่เพื่อให้นายปาสกาลดำเนินการชำระบัญชีบริษัทโจทก์ที่ 1 เป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 สำหรับสิทธิทุกอย่าง การดำเนินการและความรับผิดชอบทั้งหมด ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทโจทก์ที่ 1อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ภารกิจในการยกเลิกกิจการของโจทก์ที่ 1 ยังคงดำเนินอยู่และเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 ในการดำเนินการเกี่ยวกับการยกเลิกกิจการของโจทก์ที่ 1 ตามขั้นตอนของกฎหมายโดยไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใดมานำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนี้ บริษัทโจทก์ที่ 1 จึงหาได้สิ้นสภาพเป็นนิติบุคคลไปตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 ดังที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ไม่เมื่อนายปาสกาลซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 และมีอำนาจดำเนินการทุกเรื่องแทนโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายชอง มารีปิตอง เป็นผู้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 โดยมีโนตารีปับลิกและสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส รับรอง ตามหนังสือมอบอำนาจสิทธิบัตรในเอกสารหมาย จ.35 โจทก์ที่ 1 โดยนายชองผู้รับมอบอำนาจ จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า เมื่อระหว่างวันที่26 มีนาคม 2539 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 อันเป็นวันฟ้อง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีต ตามสิทธิบัตรไทยเลขที่ 4575 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2538 ของโจทก์ที่ 1 ด้วยการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรง สำหรับคอนกรีตโดยใช้กรรมวิธีการผลิตตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 1 อันเป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ. 2522 มาตรา 85 ประกอบด้วยมาตรา 36(2) หรือไม่ ปัญหานี้ปรากฏตามสิทธิบัตรไทยเลขที่ 4575 ของโจทก์ที่ 1 เอกสารหมาย จ.6 ว่า สิทธิบัตรกรรมวิธีดังกล่าวมีข้อถือสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 พอสรุปได้คือ กรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเสริมแรง สำหรับคอนกรีตซึ่งใช้โดยเฉพาะกับโครงสร้างหรือการก่อสร้างชิ้นงานที่ทำจากคอนกรีตเพื่อต่อเชื่อมแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงเข้าด้วยกัน โดยนำส่วนปลายสุดที่ทำเป็นเส้นเกลียวไว้มาต่อกับส่วนปลอกต่อเชื่อมที่มีเกลียว ทั้งนี้โดยมีลักษณะพิเศษคือ ก่อนการทำเส้นเกลียวดังกล่าว ส่วนปลายสุดของแท่งเหล็กที่จะนำมาต่อเชื่อมนั้นจะถูกขายให้ใหญ่ขึ้นด้วยวิธีแบบที่ไม่ใช่ความร้อนหรือวิธีแบบที่เย็น (Cold Forging) ซึ่ง “กรรมวิธี” ที่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิบัตรนั้น พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 3 ได้ให้ความหมายไว้ว่าหมายถึง วิธีการ กระบวนการ หรือกรรมวิธีในการผลิตหรือการเก็บรักษาให้คงสภาพหรือให้มีคุณภาพดีขึ้น หรือการปรับสภาพให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์และรวมถึงการใช้กรรมวิธีนั้น ๆ ด้วย โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิบัตรกรรมวิธีดังกล่าวเท่านั้นที่มีสิทธิในการใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตร ผลิตใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรนั้นตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 36 วรรคหนึ่ง(2) โจทก์ที่ 1 มีนายชองมารี ปิตอง ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 นางสาวปริญดา พัฒนเมฆา ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากนายชอง และนายชัยยงค์ สุทธาภาศ ผู้จัดการทั่วไปบริษัทในเครือโจทก์ที่ 2 มาเบิกความเป็นพยานว่า เมื่อประมาณปี 2539 นายชองรับทราบมาว่าจำเลยทั้งสองได้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 1 นายชองจึงได้แต่งตั้งทนายความให้มีหนังสือให้จำเลยทั้งสองยุติการกระทำอันเป็นละเมิดสิทธิบัตรในกรรมวิธีผลิตของโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ต่อมาปี 2540 จำเลยทั้งสองฟ้องโจทก์ที่ 1 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยอ้างว่าสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตของโจทก์ที่ 1 มิได้เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และไม่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น ขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรไทยเลขที่ 4575 ของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จำเลยที่ 2 เคยทำงานกับบริษัทโจทก์ที่ 2 โดยดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตลาดและฝ่ายขาย จำเลยที่ 2 มีความรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ด้วย โจทก์ที่ 1 สืบทราบว่าจำเลยทั้งสองยังกระทำการละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 อยู่ นายชองจึงแจ้งให้นางสาวปริญดาผู้รับมอบอำนาจช่วงจากนายชองดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการละเมิดกรรมวิธีการผลิตเหล็กเส้นข้ออ้อยเสริมแรงสำหรับคอนกรีตโดยวิธีอัดเย็นตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 เอกสารหมาย จ.6 บริษัทพิงค์เคอร์ตั้น จำกัด ซึ่งนางสาวปริญดาทำงานอยู่ได้ส่งสายสืบไปยังสถานประกอบการของจำเลยที่ 1 พบว่ามีการละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิตของโจทก์ที่ 1 จริง นางสาวปริญดาจึงไปร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ เจ้าพนักงานได้ออกหมายค้นและไปทำการค้นที่สถานประกอบการของจำเลยที่ 1 พบเหล็กเส้นข้ออ้อยที่มีการขยายหน้าตัดและทำเกลียวไว้แล้ว พบปลอกเกลียว เครื่องอัดเย็นสำหรับขยายหน้าตัดเหล็กเส้นและเครื่องทำเกลียว 1 เครื่อง โจทก์ที่ 1 ได้ส่งท่อนเหล็ก 2 แท่ง แท่งหนึ่งมีเกลียว ส่วนอีกแท่งหนึ่งไม่มีเกลียว ซึ่งเป็นของจำเลยทั้งสองไปให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยตรวจสอบว่าบริเวณที่เป็นเกลียวนั้นผ่านกรรมวิธีอะไรในการขึ้นรูป ได้ความจากคำเบิกความของนายประทีป วงศ์บัณฑิต รักษาการหัวหน้าห้องปฏิบัติการตรวจสอบสภาพการใช้งานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบเหล็กทั้งสองเส้นดังกล่าวว่า ท่อนเหล็กที่มีเกลียวผ่านกรรมวิธีกระบวนการขึ้นรูปแบบเย็นหรืออัดเย็น (Cold Forging หรือ Cold Upsetting) เนื่องจากมีความแข็งกว่าท่อนเหล็กในสภาพก่อนมีการขึ้นรูป แตกต่างกับการขึ้นรูปแบบร้อนที่จะไม่ทำให้โลหะแข็งขึ้นส่วนจำเลยทั้งสองมีบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความประกอบพยานเอกสารหลายฉบับว่า จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการตั้งโรงงานเพื่อผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตโดยได้ติดต่อไปยังบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้และได้สั่งซื้อเครื่องจักรในการผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตจากบริษัทดังกล่าวโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการผลิตและจำหน่ายข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงแต่ผู้เดียว จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับการผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตทุกชนิดที่บริษัทดังกล่าวมีอยู่ให้แก่จำเลยที่ 2 และจะต้องให้สิทธิแก่จำเลยที่ 2 ในการผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีต บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ได้ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการผลิตและจำหน่ายข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีต ตามสัญญาระหว่างบริษัทเอเปอร์สเปเกอร์ จำกัด กับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 21สิงหาคม 2538 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.10 จำเลยที่ 2 ได้ผลิตสินค้าข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงตามสัญญาดังกล่าว แต่ไม่สามารถนำออกจำหน่ายได้เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ได้แต่งตั้งทนายความให้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 อ้างว่าได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรไทยเลขที่ 4745 แต่เพียงผู้เดียว และกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ละเมิดสิทธิบัตรดังกล่าว จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีความรู้เรื่องสิทธิบัตร จึงหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบให้มั่นใจว่าไม่ได้กระทำการที่ผิดกฎหมาย โดยได้สอบถามไปยังบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีถึงสิทธิของจำเลยที่ 2ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.10 ได้รับแจ้งว่าบริษัทดังกล่าวก็ได้รับหนังสือจากทนายความโจทก์ที่ 2 แบบเดียวกันตามหนังสือของสำนักงานทนายความเตลิกี แอนด์ กิบบินส์ลงวันที่ 26 มีนาคม 2539 ต่อมาบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด มีหนังสือลงวันที่ 8พฤษภาคม 2539 ถึงจำเลยที่ 2 แจ้งว่าได้รับการยืนยันจากบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ข้อต่อเหล็กเสริมแรงคอนกรีตว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิผลิตได้ตามสิทธิบัตรของบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์จำกัด เลขที่ 4, 619, 096 ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2529 ตามสิทธิบัตรพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.6 และหากจำเลยที่ 2 ต้องการ บริษัทดังกล่าวจะส่งเอกสารแสดงการอนุญาตให้ใช้สิทธิไปให้จำเลยที่ 2 ตามหนังสือพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.12 เมื่อเป็นเช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงมีหนังสือลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2539ถึงบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ให้ส่งเอกสารแสดงการอนุญาตให้ใช้สิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ตามหนังสือพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ล.13 ต่อมาบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัดได้ส่งหนังสือของบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด ลงวันที่ 19 กันยายน 2539 ที่มีถึงบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ไปให้จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นการยืนยันว่าบริษัทริชมอนด์ สกรูแองเคอร์ จำกัด ได้อนุญาตให้บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจากบริษัทดังกล่าวใช้เทคนิคตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ในประเทศไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ตามหนังสือของบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด เอกสารหมาย ล.14 และต่อมาบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์จำกัด ยังได้มีหนังสือลงวันที่ 30 กันยายน 2539 ถึงจำเลยที่ 2 ยืนยันอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เทคนิคตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ได้ ตามหนังสือเอกสารหมาย ล.15 สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ตามเอกสารหมาย ล.16 เป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตโดยการขยายปลายเหล็กเส้นเสริมแรงให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้นโดยการตีขึ้นรูปแล้วนำส่วนที่ขยายมาทำให้เกิดเกลียวตัวผู้และนำไปต่อเข้ากับข้อต่อตัวรับหรือเกลียวตัวเมีย หลังจากที่จำเลยที่ 2ได้รับการยืนยันอย่างชัดแจ้งจากบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในการผลิตสินค้าที่กำลังผลิตอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มิได้ละเมิดสิทธิบัตรผู้ใดแล้วจำเลยที่ 2 ยังได้นำรายละเอียดต่าง ๆ ไปหารือกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะกรรมศาสตร์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะวิทยาที่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและวิศวกรการขึ้นรูปโลหะ ซึ่งได้รับการยืนยันตรงกันว่า การขยายปลายเหล็กเส้นเสริมแรงให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ขึ้นโดยการขึ้นรูปเป็นวิธีการที่ครอบคลุมถึงวิธีการขึ้นรูปแบบเย็น (Cold Forging หรือ Cold Unsetting หรือ Cold Heading)การขึ้นรูปแบบร้อน และการขึ้นรูปแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็น และมีตำราที่ใช้สอนในสถาบันการศึกษายืนยันข้อมูลทางวิชาการดังกล่าว ตามหนังสือชื่อ “คู่มือวิศวกรเครื่องมือ”(Tool Engineers Handbook) โดยแฟรงค์ ดับเบิลยู. วิลสัน (Frank W. Wilson)ปี 2492 เอกสารหมาย ล.17 และหนังสือชื่อ “คู่มืออุตสาหกรรม ขึ้นรูปโลหะ” (ForgingIndustry Handbook) โดยโจน อี. เจ็นสัน (Jon E. Jenson) ปี 2513 เอกสารหมาย ล.18 จำเลยทั้งสองได้ผลิตสินค้าข้อต่อเหล็กที่มีการขยายปลายเหล็กเส้นเสริมแรงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นดังกล่าวตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองดังกล่าวโดยละเอียดแล้วเห็นว่า สิทธิบัตรไทยเลขที่ 4575 ของโจทก์ที่ 1 เป็นสิทธิบัตรกรรมวิธี จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เฉพาะกรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตตามข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรนั้นเท่านั้น กล่าวคือได้รับความคุ้มครองเฉพาะกรรมวิธีการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงเข้าด้วยกันด้วย การนำส่วนปลายสุดที่ทำเป็นเส้นเกลียวไว้มาต่อกับส่วนปลอกโดยมีลักษณะพิเศษคือ ก่อนการทำเส้นเกลียวดังกล่าว ส่วนปลายสุดของแท่งเหล็กที่จะนำมาเชื่อมต่อนั้น จะถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นด้วยวิธีแบบที่ไม่ใช้ความร้อนหรือวิธีแบบที่เย็น (Cold Forging) สิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวไม่ได้รับความคุ้มครองสำหรับกรรมวิธีการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงเข้าด้วยกันด้วยวิธีขึ้นรูปโดยใช้ความร้อน (Hot Forging) หรือวิธีขึ้นรูปแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็น ส่วนสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ของบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด เป็นสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตโดยการขยายปลายเหล็กเส้นเสริมแรงให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ขึ้นโดยการตีขึ้นรูปสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์นี้จึงครอบคลุมถึงการเชื่อมต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงโดยมีการทำให้ปลายเหล็กเส้นเสริมแรงขยายใหญ่ขึ้นก่อนทำเกลียวด้วยกรรมวิธีการตีขึ้นรูปทุกกรรมวิธีไม่ว่าจะเป็นการตีขึ้นรูปแบบเย็น แบบร้อน หรือแบบกึ่งร้อนกึ่งเย็น ซึ่งในข้อนี้ปรากฏตามหนังสือของบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด ถึงนายชอง มารี ปิตอง ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 เอกสารหมาย เลข 5 ท้ายคำแถลงการณ์ปิดคดีของโจทก์ทั้งสองลงวันที่ 15 ตุลาคม 2542 ว่า สิทธิบัตรของบริษัทดังกล่าวครอบคลุมถึงการตีขึ้นรูปแท่งเหล็กทุกวิธี (The Richmond Patent covers all upsettingof the bar.) เจือสมกับพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองมีหนังสือของบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเกอร์ จำกัด ลงวันที่ 19 กันยายน 2539 ที่มีถึงบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 และอนุญาตช่วงให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบัตรดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล.14 มาแสดงต่อศาลยืนยันว่า บริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์จำกัด ผู้ทรงสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ได้อนุญาตให้บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจากบริษัทดังกล่าวซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 ใช้เทคนิคตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ในประเทศไทยได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ประกอบกับบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัดยังได้มีหนังสือลงวันที่ 30 กันยายน 2539 ถึงจำเลยที่ 2 ยืนยันอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้เทคนิคตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ตามที่บริษัทนั้นได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรดังกล่าวจากบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด ตามเอกสารหมาย ล.15 ด้วย ซึ่งโจทก์ที่ 1 มิได้นำสืบพยานหลักฐานโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามเอกสารหมาย ล.14 และ ล.15 ดังกล่าว เชื่อว่าช่วงระหว่างวันที่ 26 มีนาคม 2539 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 อันเป็นวันฟ้อง ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 นั้น จำเลยทั้งสองได้ผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตตามสิทธิที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 31ธันวาคม 2541 ซึ่งสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาดังกล่าว ได้ครอบคลุมถึงกรรมวิธีการผลิตข้อต่อนั้นด้วยการตีขึ้นรูปแท่งเหล็กทุกวิธี รวมทั้งการขึ้นรูปด้วยวิธีแบบเย็นตามสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ด้วย ดังนี้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่าการผลิตข้อต่อของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองใช้กรรมวิธีการผลิตโดยขึ้นรูปด้วยวิธีแบบเย็นเช่นเดียวกับกรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่ก็เป็นการผลิตข้อต่อของแท่งเหล็กเส้นดังกล่าวตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 ซึ่งแสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนากระทำละเมิดต่อสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 แม้จำเลยที่ 2 จะเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ที่ 2 มาก่อนดังที่โจทก์ที่ 1 นำสืบและนายชองผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 มีความรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1ด้วยก็ตาม แต่ก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายชองและนายชัยยงค์พยานโจทก์ที่ 1ว่า จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตลาดและฝ่ายขาย ไม่มีหน้าที่ควบคุมการผลิตผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏจากข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 มีโอกาสเข้าไปล่วงรู้กรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ได้อย่างไรที่นายชองเบิกความลอย ๆ ว่าจำเลยที่ 2 มีความรู้เกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ด้วย จึงไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังได้ การที่จำเลยที่ 2 ตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 และได้ติดต่อกับบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐเยอรมณีเพื่อให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้และสั่งซื้อเครื่องจักรในการผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตจากบริษัทดังกล่าว กลับทำให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันผลิตข้อต่อเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์จำกัด หาได้ใช้กรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ไม่ และแม้จะปรากฏตามสัญญาระหว่างบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด กับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 21 สิงหาคม2538 เอกสารหมาย ล.10 ในข้อ 1 ว่า บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้อต่อเหล็กท่อนเสริมแรงคอนกรีตใช้สำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้างแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย และข้อ 9. สัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับระยะแรกนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2542 โดยไม่ปรากฏข้อความระบุให้จำเลยที่ 1มีสิทธิในการผลิตข้อต่อเหล็กดังกล่าวในประเทศไทยก็ตาม ก็เป็นไปได้ว่าสัญญาดังกล่าวทำตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2538 ซึ่งในระยะแรกจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538ก่อนที่จะให้สิทธิผลิตผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 แก่จำเลยที่ 1 ในประเทศไทย บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ให้สิทธิในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้อต่อเหล็กดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น อย่างไรก็ดี ในสัญญาเอกสารหมาย ล.10 ดังกล่าวข้อ 6 ก็ระบุไว้ด้วยว่า บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด จะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่จำเลยที่ 1 และจะแจ้งให้ทราบเพิ่มเติมถึงวิวัฒนาการในด้านเทคนิคดังกล่าวทั้งหมดด้วย แสดงว่าบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ได้ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการผลิตข้อต่อเหล็กนั้นแก่จำเลยที่ 1 ด้วย ดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบ ซึ่งโจทก์ที่ 1 เองก็ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเริ่มกระทำละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2539ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาเลขที่ 4,619,096 แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2541 การที่บริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาดังกล่าวจากบริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด ยอมให้บริษัทจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อบริษัทคล้ายกับชื่อบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด และยอมให้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้สิทธิบัตรดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยอันเป็นการใช้สิทธิอย่างหนึ่งของผู้ทรงสิทธิบัตรได้นั้น ย่อมมีเหตุผลให้เชื่อว่าบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัด ได้อนุญาตช่วงให้จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบัตรนั้นโดยผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรดังกล่าวได้ แต่ผู้เดียวในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2541 จริงตามที่บริษัทริชมอนด์ สกรู แองเคอร์ จำกัด และบริษัทเอเบอร์สเปเกอร์ จำกัดยืนยันตามเอกสารหมาย ล.14 และ ล.15 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตข้อต่อของแท่งเหล็กเส้นตามสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์สหรัฐอเมริกาเลขที่ 5,619,096 ซึ่งครอบคลุมถึงกรรมวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ตามสิทธิที่ได้รับมาดังกล่าวแม้มีกรรมวิธีการผลิตเช่นเดียวกับกรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยจำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 85 ประกอบด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง(2) เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำโดยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ตามคำฟ้อง คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า สิทธิบัตรกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 เป็นสิทธิบัตรที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามคำฟ้องนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share