คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุที่โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแฟรนไชส์กับจำเลยเป็นเพราะโจทก์ที่ 1 เชื่อในคำโฆษณาของจำเลยว่า โจทก์ที่ 1 จะได้ซื้อสินค้าในราคาถูกกว่าทั่วไปและได้รับการส่งสินค้าตรงเวลา เป็นสินค้าที่เป็นที่นิยม 4 ยี่ห้อ เป็นอะไหล่แท้จากโรงงาน รายได้ของแต่ละสาขาต่อเดือนอยู่ที่จำนวน 500,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท อัตราส่วนกำไรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว และมีการบริหารจัดการแฟรนไชส์ที่ดี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจะมิได้ระบุข้อตกลงเกี่ยวกับราคาสินค้า ความหลากหลายของสินค้าและการส่งสินค้าให้ถูกต้องก็ตาม แต่การโฆษณาของจำเลยดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เข้าใจได้ในขณะเข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับจำเลยว่าจำเลยผู้ให้สิทธิตกลงจะดำเนินการตามคำโฆษณานั้นเพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญาเป็นผู้รับสิทธิจนเป็นมูลเหตุจูงใจให้โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนี้ จึงต้องถือว่าคำโฆษณาดังกล่าวเป็นข้อตกลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผูกพันจำเลยให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำโฆษณานั้นด้วย เมื่อจำเลยมิได้ดำเนินการตามคำโฆษณาก็ย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ เมื่อโจทก์ที่ 1 บอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยก็จำต้องให้โจทก์ที่ 1 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานะผิดสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 4,476,236.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 384,436.85 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อจำเลยในจำนวนเงินค่าสินค้าที่ได้มีการสั่งซื้อจากจำเลย และยังคงค้างชำระอยู่เป็นจำนวน 737,768.11 บาท โดยจำเลยขอคิดดอกเบี้ยผิดนัดเพียงในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2548 เป็นต้นไป จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะชำระเสร็จสิ้นแก่จำเลย ดอกเบี้ยผิดนัดคิดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 1 ปี 25 วัน เป็นเงินจำนวน 134,011.03 บาท และรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยคิดจนถึงวันฟ้องจำนวน 871,779.14 บาท กับให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อจำเลยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 737,768.11 บาท นับถัดจากวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 อันเป็นวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระค่าสินค้าทั้งหมดแก่จำเลยเสร็จสิ้น
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งโดยขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 2 และยกฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนของโจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 กับจำเลยทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 โดยจำเลยอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จำหน่ายอะไหล่และอุปกรณ์ตกแต่งรถจักรยานยนต์ภายใต้ชื่อ “KPN plus” (เคพีเอ็น พลัส) รวมจำนวน 5 สาขา ภายในเขตพื้นที่อำเภอเมืองตรัง อำเภอห้วยยอด และอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อำเภอเมืองกระบี่ และอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโจทก์ที่ 2 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2547 เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำการค้าเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นค่าสัมปทานสิทธิในเครื่องหมายการค้า (ค่าธรรมเนียมแรกเข้า) ระยะเวลา 5 ปี จำนวน 5 สาขา รวมเป็นเงินจำนวน 1,750,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 122,500 บาท ค่าตกแต่งติดตั้งร้านจำนวน 661,349.88 บาท ค่าคอมพิวเตอร์พร้อมโปรแกรมจำนวน 347,716.83 บาท ที่ฝ่ายโจทก์นำสืบว่าในเดือนกันยายน 2548 ฝ่ายโจทก์ได้เจรจากับผู้แทนบริษัทจำเลยหลายครั้งและจำเลยยอมคืนเงินที่เรียกว่าค่าสัมปทานสิทธิทั้ง 5 สาขา และยกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับหักกลบลบหนี้ ซึ่งจำเลยต้องชำระเงินคืนแก่ฝ่ายโจทก์จำนวน 1,050,000 บาท โดยจำเลยขอให้คืนในรูปสัญญาจ้างวางแผนพัฒนาบุคลากรตามสัญญาประนอมหนี้และยกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและสัญญาจ้างวางแผนพัฒนาบุคลากรลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งจำเลยยังไม่ได้ลงนามในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า แม้จะรับฟังตามที่ฝ่ายโจทก์อ้างว่าฝ่ายโจทก์กับจำเลยได้เคยตกลงที่จะทำสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจริง แต่เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับเป็นสัญญาอันคู่สัญญามุ่งจะทำเป็นหนังสือและยังไม่มีการทำสัญญาต่อกันเป็นหนังสือก็ต้องถือว่ายังไม่มีสัญญาต่อกัน สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและสัญญาจ้างวางแผนพัฒนาบุคลากรดังกล่าวจึงยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นสัญญา ซึ่งในประเด็นนี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์จึงต้องรับฟังเป็นยุติว่า ฝ่ายโจทก์กับจำเลยมิได้มีความผูกพันต่อกันตามสัญญาประนอมหนี้และยกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและสัญญาจ้างวางแผนพัฒนาบุคลากร และที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ เมื่อการฟ้องในข้อหาผิดสัญญาในคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกร้องตามสิทธิในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลย จึงไม่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 แม้โจทก์ที่ 1 จะก่อตั้งบริษัทโจทก์ที่ 2 ขึ้นมาในภายหลังเพื่อดำเนินกิจการแฟรนไชส์นั้นต่อมาก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์ที่ 2 กลายเป็นคู่สัญญาในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ จึงพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้งในส่วนของโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 และจำเลยไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ จำเลยจึงต้องคืนค่าธรรมเนียมแรกเข้าจำนวน 5 สาขา ตามสัญญาดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 1,872,500 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และต้องชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการที่โจทก์ที่ 1 ต้องได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจจำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 มีตัวโจทก์ที่ 1 มาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของโจทก์ที่ 1 ได้ความว่า เมื่อประมาณกลางปี 2546 จำเลยได้ลงโฆษณาขายธุรกิจแฟรนไชส์แก่บุคลากรโดยทั่วไปว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ของจำเลยเป็นธุรกิจจัดจำหน่ายอะไหล่รถจักรยานยนต์จำนวน 4 ยี่ห้อที่เป็นที่นิยม ได้แก่ “Honda” “Suzuki” “Yamaha” และ “Kawasaki” ทุกรุ่นที่ออกวางตลาด ทั้งอะไหล่แท้จากโรงงาน และอะไหล่ทดแทนที่เป็นที่นิยมและคุณภาพเหมาะสมกับราคา จำหน่ายทั้งปลีกและส่ง ซึ่งจะมียอดขายต่อเดือนอยู่ที่จำนวน 500,000 ถึง 1,000,000 บาท อัตราส่วนกำไรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่า “Royalty Fee” แล้ว มีการบริหารจัดการแฟรนไชส์ที่ดีผู้รับสิทธิจะได้รับผลประโยชน์จากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่จำเลยจัดขึ้นเป็นระยะ เช่น การลงโฆษณาทางหน้านิตยสาร ป้าย “Billboard” การจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ในนามบริษัทจำเลย ได้ซื้อสินค้าในราคาถูกกว่าทั่ว ๆ ไป และได้รับการส่งสินค้าตรงเวลา เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 หลงเชื่อตามคำโฆษณาเข้าจองสิทธิแฟรนไชส์และทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 จำนวน 5 สาขา ภายในเขตพื้นที่อำเภอเมืองตรัง อำเภอห้วยยอด และอำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อำเภอเมืองกระบี่ และอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ดังนั้น เหตุที่โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแฟรนไชส์กับจำเลยเป็นเพราะโจทก์ที่ 1 เชื่อในคำโฆษณาของจำเลยว่า โจทก์ที่ 1 จะได้ซื้อสินค้าในราคาถูกกว่าทั่วไปและได้รับการส่งสินค้าตรงเวลา เป็นสินค้าอะไหล่รถจักรยานยนต์จำนวน 4 ยี่ห้อ ที่เป็นที่นิยมทุกรุ่นที่ออกวางตลาด เป็นอะไหล่แท้จากโรงงาน รายได้ของแต่ละสาขาต่อเดือนอยู่ที่จำนวน 500,000 ถึง 1,000,000 บาท อัตราส่วนกำไรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว และมีการบริหารจัดการแฟรนไชส์ที่ดี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิการให้บริการของผู้ให้สิทธิ (จำเลย) จะมิได้ระบุข้อตกลงเกี่ยวกับราคาสินค้า ความหลากหลายของสินค้าและการส่งสินค้าให้ถูกต้องดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่การโฆษณาของจำเลย ดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เข้าใจได้ในขณะเข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับจำเลยว่า จำเลยผู้ให้สิทธิตกลงจะดำเนินการตามคำโฆษณานั้นเพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญาเป็นผู้รับสิทธิจนเป็นมูลเหตุจูงใจให้โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับจำเลย ดังนี้ จึงต้องถือว่าคำโฆษณานั้นเป็นข้อตกลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยและผูกพันจำเลยให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำโฆษณานั้นด้วย เมื่อจำเลยมิได้นำสืบและอุทธรณ์โต้แย้งว่าจำเลยได้ดำเนินการให้โจทก์ที่ 1 ได้ซื้อสินค้าในราคาถูกกว่าทั่วไปและได้รับการส่งสินค้าตรงเวลา รายได้ของแต่ละสาขาต่อเดือนจะอยู่ที่จำนวน 500,000 ถึง 1,000,000 บาท อัตราส่วนกำไรโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว และมีการบริหารจัดการแฟรนไชส์ที่ดี แต่ปรากฏว่าจำเลยมิได้ดำเนินการให้โจทก์ที่ 1 ได้ซื้อสินค้าในราคาถูกกว่าทั่วไปและได้รับการส่งสินค้าตรงเวลา จำเลยไม่สามารถทำให้โจทก์มีกำไรเฉลี่ย 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว และไม่สามารถบริหารจัดการแฟรนไชส์ที่ดีแก่โจทก์ที่ 1 ตามคำโฆษณาที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ จำเลยย่อมเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแก่จำเลยตามหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 แล้ว จำเลยผู้เป็นคู่สัญญาจำต้องให้โจทก์ที่ 1 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมและโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยในฐานะผิดสัญญาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าจำนวน 5 สาขา รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 1,872,500 บาท แก่โจทก์ที่ 1 เมื่อโจทก์ที่ 1 เบิกความยอมรับว่ายังค้างชำระค่าสินค้าแก่จำเลยจำนวน 729,745.42 บาท แต่โจทก์ที่ 1 ได้ตกลงที่จะหักกลบลบหนี้กับค่าธรรมเนียมแรกเข้าเช่นนี้ จึงต้องนำยอดค้างชำระค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวหักออกจากเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 1,872,500 บาท เมื่อหักแล้วจำเลยคงต้องชำระเงินคืนโจทก์ที่ 1 จำนวน 1,142,754.58 บาท แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วมีการลดจำนวนหนี้ลงโดยตามคำฟ้องโจทก์ที่ 1 ประสงค์เรียกร้องเอาจากจำเลยจำนวนเพียง 1,050,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,050,000 บาท เท่าที่โจทก์ที่ 1 ขอมาท้ายคำฟ้อง…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share