คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2054/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำเบิกความของจำเลยซึ่งเท้าความไปถึงเรื่องระหองระแหงต่างๆระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีอาญาที่ศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายโจทก์นั้น แม้จะเป็นความเท็จ ก็หาใช่ข้อสำคัญในคดีดังกล่าวไม่
คำเบิกความของจำเลยในคดีอาญาซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเพื่อประโยชน์แก่คดีของตนนั้น ถือว่าเป็นถ้อยคำของคู่ความในกระบวนพิจารณา จึงไม่อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
การเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดี มิใช่เรื่องแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน เพราะศาลทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมในการพิจารณาคดี ซึ่งมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 177 มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานทั่วไป จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ
ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า การแจ้งความเท็จของจำเลยอาจทำให้โจทก์เสียหายเป็นแต่กล่าวว่า อาจทำให้ผู้อื่นเสียหายโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องในข้อหาฐานนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลแขวงพระนครเหนือในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5751/2515 และความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี (รายละเอียดปรากฏในคำฟ้อง) ตามคำเบิกความของจำเลยเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ทั้งเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าและใส่ความโจทก์และผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์และผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 177, 326, 393, 91, 92

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาหลายข้อ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกา โดยเห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219

โจทก์ฎีกาคำสั่งที่ไม่รับฎีกา

ศาลฎีกาสั่งรับฎีกาข้อ 3 ที่ว่า ข้อความทั้งหมดตามฟ้องที่จำเลยเบิกความนอกจากตามฎีกาข้อ 4 เป็นข้อสำคัญในคดี และฎีกาข้อ 5 ที่ว่าการที่จำเลยเบิกความอ้างตนเองเป็นพยานไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331 และที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย

ปัญหาที่ว่า คำเบิกความข้ออื่นนอกจากตามฎีกาข้อ 4 เป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคำเบิกความของจำเลยเท้าความไปถึงเรื่องระหองระแหงระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งแม้ว่าเป็นความเท็จก็หาใช่ข้อสำคัญในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5751/2515 ของศาลแขวงพระนครเหนือที่พิพากษาให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายโจทก์อย่างใดไม่ ดังจะเห็นได้ว่าศาลแขวงพระนครเหนือมิได้หยิบยกคำเบิกความของจำเลยเหล่านั้นมาหักล้างพยานโจทก์ประการใดเลย

ปัญหาต่อไปที่ว่า การที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน จะได้รับการยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ถึงอย่างไรจำเลยก็อยู่ในฐานะเป็นคู่ความกับโจทก์อยู่นั่นเองคำเบิกความของจำเลยจึงเป็นถ้อยคำในกระบวนพิจารณาในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของจำเลย จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 331

ส่วนปัญหาที่ว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จด้วยหรือไม่ เห็นว่าการเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีไม่ใช่เรื่องแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน เพราะศาลทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมในการพิจารณาคดี ซึ่งมีบทบัญญัติสำหรับกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 177 อยู่แล้ว มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานอย่างเจ้าพนักงานทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าลักษณะความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 อย่างไรก็ตาม ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าการแจ้งความของจำเลยอาจทำให้ผู้อื่นเสียหาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาฐานนี้ได้

พิพากษายืน

Share