แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๑/๒๕๕๕
วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทซีจี ออโต้ เทค จำกัด จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๔๓๐๔/๒๕๕๓ ความว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์โดยตกลงเช่าที่ดินในเขตทางพิเศษฉลองรัช บริเวณริมถนนประดิษฐ์มนูธรรม บนที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๔๑๔ ตำบลจระเข้บัว อำเภอลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑๕.๖๐ ตารางวา เพื่อทำทางเข้าออก กำหนดเวลาเช่า ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙ ค่าเช่าเดือนละ ๔,๓๖๐ บาท โดยให้ปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ทุกปี จำเลยเป็นฝ่ายชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าจำเลยขอเช่าที่ดินต่อโดยจะชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนในอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง จำเลยครอบครองทรัพย์สินที่เช่าตลอดมา โดยชำระค่าเช่า ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้โจทก์เพียง ๒ เดือน แล้วไม่ชำระค่าเช่าให้อีก โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถาม จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยพร้อมทั้งบริวารออกไปจากพื้นที่เช่า ส่งมอบพื้นที่เช่าแก่โจทก์ และชำระค่าเช่าค้างชำระ ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน และค่าเสียหายจำนวน ๓๐๓,๐๐๗.๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๒๓๓,๐๘๒.๕๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายเป็นเงินเดือนละ ๔,๗๖๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกจากพื้นที่เช่าและส่งมอบพื้นที่เช่าแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยยอมรับว่าทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ แต่ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลงมิได้มีการทำสัญญาเช่าขึ้นมาใหม่ ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าค้างชำระและค่าเสียหายจากการเช่า โดยไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จึงไม่สามารถฟ้องบังคับคดีได้ และเนื่องจากการใช้ทางบนที่ดินที่เช่าจากโจทก์ก็เพื่อเป็นทางเข้า – ออกของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๓๙๘๒ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ไปสู่ทางสาธารณะที่รัฐจัดทำขึ้นที่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนแก่ประชาชนเป็นส่วนรวม หรือประชาชนส่วนรวมจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ หรือการกระทำนั้น และทางพิพาทมีลักษณะเป็นฟุตบาท จึงไม่ต้องส่งมอบพื้นที่ให้แก่โจทก์ ทั้งโจทก์ก็ไม่สามารถเก็บค่าเช่าจากจำเลยได้เนื่องจากเป็นการขัดกับวัตถุประสงค์ในกรณีที่รัฐมีหน้าที่จะต้องจัดทำบริการสาธารณะพื้นฐานให้กับประชาชน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครอง จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์เพื่อใช้เป็นทางเข้า – ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๓๙๘๒ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ไปสู่ถนนประดิษฐ์มนูธรรมที่โจทก์สร้างขึ้นอันเป็นทางสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าผ่านทางเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ ดังนั้นวัตถุประสงค์ในการเช่าที่ดินเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดทำบริการสาธารณะของโจทก์ สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองรับผิดชอบดำเนินกิจการทางปกครองในการจัดทำบริการสาธารณะ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินในเขตทางพิเศษฉลองรัช บริเวณริมถนนประดิษฐ์มนูธรรม บนที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๔๑๔ ตำบลจระเข้บัว อำเภอลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เพื่อทำเป็นทางเข้าออกที่ดินที่จำเลยเช่าจากบุคคลอื่น เพื่อออกสู่ถนนสาธารณะ ซึ่งเป็นประโยชน์ของจำเลยโดยตรง แม้จำเลยอ้างว่า มีบุคคลอื่นใช้เส้นทางเข้าออกดังกล่าวด้วยก็ตามก็เป็นการเอื้อเฟื้อของจำเลยเท่านั้น ไม่อาจฟังว่าจำเลยเช่าที่ดินโจทก์ทำทางเข้าออกเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมและจำเป็นต้องกระทำต่อเนื่อง หากไม่ดำเนินการ จะมีผลกระทบต่อสาธารณะโดยตรงหรือทำให้การจัดทำบริการสาธารณะไม่บรรลุวัตถุประสงค์หรืออำนาจหน้าที่ของโจทก์ สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง มิใช่สัญญาทางปกครอง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ และโดยที่มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติว่า “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเมื่อพิจารณาบทนิยาม คำว่าสัญญาทางปกครองดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า นอกจากสัญญาทางปกครองสี่ประเภทตามลักษณะที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดแล้ว ยังมีสัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองอื่น ๆ ได้อีก โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์และเนื้อหาของสัญญานั้น ๆ หากเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งก็คือการบริการสาธารณะบรรลุผล สัญญาดังกล่าว ก็เป็นสัญญาทางปกครองโดยสภาพของสัญญานั่นเอง
คดีนี้โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติให้โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษด้วยวิธีใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ รวมทั้งดำเนินงานหรือธุรกิจเกี่ยวกับทางพิเศษและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับทางพิเศษหรือที่เป็นประโยชน์แก่โจทก์ มาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้โจทก์มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ ตามมาตรา ๘ และอำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง (๑) … (๑๒) ให้เช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่โจทก์โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะควบคู่ไปด้วย มาตรา ๓๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา ๓๖ ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างโรงเรือนหรือสิ่งอื่นใด หรือปลูกต้นไม้หรือพืชอย่างใด ๆ ในทางพิเศษ หรือเพื่อเชื่อมต่อกับทางพิเศษ… และมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่า ในกรณีที่โจทก์ได้จัดทำทางหรือถนนเพื่อเชื่อมระหว่างทางพิเศษกับทางสาธารณะอื่น ผู้ใดจะสร้างทางหรือถนนหรือสิ่งอื่นใดเพื่อเชื่อมต่อกับทางหรือถนนนั้น หรือลอดหรือข้ามทางหรือถนนนั้น ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากโจทก์ วรรคสอง บัญญัติว่า การอนุญาตตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนด และเมื่อมีความจำเป็นแห่งกิจการทางพิเศษ โจทก์จะเพิกถอนเสียก็ได้ และวรรคสาม บัญญัติว่า ทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดที่สร้างขึ้นโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้โจทก์มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองดำเนินการรื้อถอนทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด… ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ให้โจทก์มีอำนาจดำเนินการเช่นว่านั้นได้เอง โดยให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดนั้นเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กฎหมายกำหนดให้โจทก์มีอำนาจในการดำเนินการ ใด ๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับทางพิเศษโดยตรงหรือธุรกิจอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือเพื่อประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะของโจทก์ เช่น การให้เช่าหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยเฉพาะกรณีที่มีการขอใช้ประโยชน์จากที่ดินในเขตทางพิเศษ โดยการทำทางผ่านที่ดินในเขตทางพิเศษเพื่อเชื่อมกับทางสาธารณะ จะต้องได้รับอนุญาตจากโจทก์ก่อนตามมาตรา ๓๗ วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งโจทก์อาจจัดหาประโยชน์จากการอนุญาตดังกล่าวโดยวิธีการให้เช่าเพื่อนำรายได้ไปใช้สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ได้โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะประกอบด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๑๐ (๑๒) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และหากโจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่อกิจการของโจทก์ โจทก์ก็มีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตหรือบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่หน่วยงานทางปกครองสร้างนิติสัมพันธ์กับเอกชนโดยมิได้มีการใช้อำนาจตามกฎหมาย ดังนั้น การให้เช่าที่ดินในเขตทางพิเศษเพื่อทำทางเชื่อมกับทางสาธารณะ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองในการจัดการเกี่ยวกับผลประโยชน์ในทรัพย์สินของโจทก์โดยใช้อำนาจตามกฎหมายในการสร้างนิติสัมพันธ์กับเอกชนที่มาขอใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์
คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตทางพิเศษฉลองรัชบริเวณริมถนนประดิษฐ์มนูธรรม เพื่อทำทางเข้า – ออกสู่ถนนดังกล่าวมีกำหนดเวลา ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๙ ค่าเช่าเดือนละ ๔,๓๖๐ บาท โดยให้ปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓ ทุกปี จำเลยตกลงเป็นฝ่ายชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ก่อนครบกำหนดสัญญา จำเลยได้ยื่นคำขอลงวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ต่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์เพื่อขอเช่าที่ดินต่อ และเมื่อสัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดลง จำเลยยังคงครอบครองที่เช่าเรื่อยมา แต่ชำระค่าเช่าและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่โจทก์เพียง ๒ เดือน โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๑ แจ้งให้จำเลยชำระค่าเช่าและค่าภาษีที่ค้างชำระ แต่จำเลยเพิกเฉย ดังนี้ เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าดังกล่าวมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และวัตถุประสงค์ของสัญญาเช่านี้เป็นการเช่าที่ดินในเขตทางพิเศษเพื่อทำทางเชื่อมกับ ถนนประดิษฐ์มนูธรรมซึ่งเป็นทางสาธารณะ การที่โจทก์ให้จำเลยเช่าที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองในการจัดการเกี่ยวกับผลประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายในการสร้างนิติสัมพันธ์กับเอกชนที่มาขอใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์ ดังนั้น ข้อพิพาทเกี่ยวกับการเช่าที่ดินในเขตทางพิเศษคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับเอกชนอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งเมื่อพิจารณาข้อกำหนดในสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๖ ที่เป็นข้อพิพาทในคดีนี้แล้ว เห็นได้ว่า มีข้อกำหนดในสัญญาบางข้อที่มีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐที่ไม่อาจพบได้ในสัญญาทางแพ่งทั่วไป เช่นข้อ ๔ กำหนดว่า การเช่าที่ดินตามสัญญานี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เช่าปรับปรุงทางเข้า – ออก โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ๑. … ๔. เมื่อโจทก์มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว โจทก์สงวนสิทธิที่จะยกเลิกการอนุญาตใช้พื้นที่ดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ โดยที่จะเรียกค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายใด ๆ จากโจทก์มิได้… และข้อ ๑๗ กำหนดว่า เมื่อโจทก์ต้องการที่ดินที่เช่าเพื่อประโยชน์อื่นใด แม้จะยังไม่ครบกำหนดอายุสัญญาเช่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้… และจำเลยจะเรียกร้องค่าเช่าที่ได้ชำระไปแล้วหรือค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ไม่ได้ทั้งสิ้น ซึ่งการที่ข้อสัญญากำหนดในลักษณะเช่นนั้นเป็นการสอดรับกับบทบัญญัติในมาตรา ๓๗ วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา ๓๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ให้อำนาจโจทก์เพิกถอนการอนุญาตให้สร้างทาง ถนน หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางพิเศษเพื่อเชื่อมต่อกับ ถนนสาธารณะเมื่อใดก็ได้ หากเป็นกรณีที่โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อกิจการของโจทก์ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองของโจทก์ ซึ่งก็คือการบริการสาธารณะบรรลุผล ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่ดินเพื่อทำทางเข้าออกระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นหน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเอกชนอ้างว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ในเขตทางพิเศษฉลองรัช บริเวณริมถนนประดิษฐ์มนูธรรมเพื่อทำทางเข้าออกที่ดินที่จำเลยเช่าจากบุคคลอื่นไปสู่ทางสาธารณะ ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดจำเลยครอบครองทรัพย์สินที่เช่าตลอดมา และชำระค่าเช่า ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินให้โจทก์เพียง ๒ เดือน จากนั้นไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์อีก ขอให้บังคับจำเลยพร้อมทั้งบริวารออกไปจากพื้นที่เช่า และส่งมอบพื้นที่เช่าแก่โจทก์ และชำระค่าเช่าค้างชำระ ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน และค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ย จึงต้องพิจารณาสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลผู้กระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่เมื่อพิจารณาสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้จะมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ก็กระทำในฐานะที่เท่าเทียมกัน และถึงแม้ว่า จะมีข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์เลิกสัญญาได้ก่อนครบกำหนดโดยไม่ต้องรับผิดก็ตาม แต่ข้อสัญญาดังกล่าว ก็พบได้ทั่ว ๆ ไปในสัญญาที่เอกชนทำต่อกันและเป็นการกำหนดข้อตกลงที่ทำให้ผู้ให้เช่าได้เปรียบเท่านั้น ทั้งหากมีการเลิกสัญญาต่อกันแล้วมิใช่ว่าโจทก์จะใช้อำนาจตามสัญญาบังคับเอาจากจำเลยได้ทันที แต่ก็จะต้องนำคดี ไปสู่ศาลให้พิจารณาชี้ขาดอีกครั้ง ซึ่งกรณีก็ยังไม่แน่ว่าข้อสัญญาดังกล่าวเป็นธรรมหรือไม่ นอกจากนี้เนื้อหาของสัญญาก็มีสาระสำคัญเป็นการให้จำเลยได้ประโยชน์จากการใช้ที่ดินที่เช่าเป็นทางเข้าออกที่ดินที่จำเลยเช่าจากบุคคลอื่นไปสู่ทางสาธารณะโดยโจทก์ได้ค่าเช่าเป็นผลประโยชน์ตอบแทนเท่านั้น มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และมิใช่สัญญาที่โจทก์มอบให้จำเลยเข้าดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะกับโจทก์ที่จะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเท่านั้น อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โจทก์ บริษัทซีจี ออโต้ เทค จำกัด จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๗