แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๐/๒๕๕๕
วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดพัทลุง
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพัทลุงส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓ นายอดิศักดิ์ พึ่งรอด โจทก์ ยื่นฟ้องนายสุสัมพันธ์ ขุทรานนท์ ที่ ๑ วัดคูหาสวรรค์ ที่ ๒ เทศบาลเมืองพัทลุง ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดพัทลุง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๔๑/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๒ โจทก์โดยสารกระเช้าลากเลื่อน (ลิฟต์) ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ก่อสร้าง เพื่อขึ้นไปยังวิหารซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาภายในสำนักสงฆ์วังสันติบรรพต (วัดวังเนียง) ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ขณะกระเช้าเลื่อนขึ้นไปตามรางประมาณ ๖๐ เมตร ลวดสลิงที่ใช้ชักลากกระเช้าลากเลื่อนขาด ทำให้กระเช้าตกลงมากระแทกกับ กำแพงอิฐ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส พนักงานอัยการจังหวัดพัทลุงได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อ ศาลจังหวัดพัทลุงว่าจำเลยที่ ๑ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ก่อสร้างดัดแปลง เคลื่อนย้ายอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลจังหวัดพัทลุงพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๙๐๘/๒๕๕๒ หมายเลขแดงที่ ๒๐๓๗/๒๕๕๒ คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ การกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ ๑ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้กระทำไปในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ด้วยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นภายในเขตท้องที่ของตนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ รู้อยู่แล้วว่ามีการก่อสร้างกระเช้าลากเลื่อน (ลิฟต์) ขึ้นภายในสำนักสงฆ์วังสันติบรรพต (วัดวังเนียง) โดยมิได้รับอนุญาต แต่กลับงดเว้น โดยนิ่งเฉยเสียมิได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์มีส่วนประมาทด้วย เนื่องจากกระเช้าลากเลื่อนไม่ได้ก่อสร้างให้บุคคลทั่วไปใช้ แต่ก่อสร้างขึ้นเพื่อลำเลียงวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างวิหาร ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ ยังไม่มาทำงานจึงยังไม่มีผู้ควบคุมกระเช้าลากเลื่อน และโจทก์ใช้กระเช้าลากเลื่อนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดหรืองดเว้นการกระทำเนื่องจากจำเลยที่ ๓ ไม่ได้รู้ถึงการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ร่วมกระทำการก่อสร้างกระเช้าลากเลื่อนแต่อย่างใด และจำเลยที่ ๓ มิได้เป็นบุคคลผู้รับผิดชอบในการอำนวยการหรือควบคุมการก่อสร้างร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ความเสียหายเป็นผลโดยตรงจากความประมาทของจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๓ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ ว่า จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย มูลคดีเฉพาะจำเลยที่ ๓ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพัทลุงพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ กระทำโดยประมาทเปิดให้ใช้กระเช้าลากเลื่อน (ลิฟต์) แก่โจทก์โดยปราศจากความระมัดระวังทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บอันตรายสาหัส ประเด็นแห่งคดีส่วนนี้จึงเป็นกรณีที่เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลการก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๓ เป็นผู้กระทำผิดเนื่องจากรู้อยู่แล้วว่ามีการก่อสร้างกระเช้าลากเลื่อน (ลิฟต์) ขึ้นภายในสำนักสงฆ์วังสันติบรรพต (วัดวังเนียง) แต่กลับงดเว้นโดยการนิ่งเฉยเสียมิได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจของศาลปกครองก็ตาม แต่เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย และเป็นกรณีที่สืบเนื่องจากจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ก่อสร้างกระเช้าลากเลื่อน (ลิฟต์) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย มูลความแห่งคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จึงเป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ ๓ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนภายในท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ หลายประการ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของเทศบาลด้วย ซึ่งในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ บัญญัติให้นายกเทศมนตรีเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการก่อสร้างหรือสิ่งก่อสร้างภายในเขตท้องที่ รวมถึงอำนาจในการสั่งระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือสั่งห้ามบุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคาร เข้าไปในอาคาร ตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย
เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้าง ควบคุม ดูแลรักษากระเช้าลากเลื่อน มีหน้าที่ซ่อมแซมบำรุงรักษาให้กระเช้าลากเลื่อนอยู่ในสภาพที่ใช้การได้และปลอดภัย แต่ด้วยความประมาทของจำเลยที่ ๑ ทำให้ลวดที่ใช้ลากกระเช้าขาดเป็นเหตุให้กระเช้าซึ่งโจทก์โดยสารตกลงมา ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บอันตราย จำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ ๑ ด้วย คำฟ้องในส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน สำหรับคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๓ ซึ่งมีนายกเทศมนตรีเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการก่อสร้างกระเช้าลากเลื่อนซึ่งถือเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ทำการก่อสร้างขึ้นภายในเขตท้องที่ควบคุมของตน รู้อยู่แล้วหรือควรจะรู้ว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ก่อสร้างกระเช้าลากเลื่อนขึ้นภายในสำนักสงฆ์วังสันติบรรพต (วัดวังเนียง) โดยมิได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ ๓ แต่กลับงดเว้นโดยการนิ่งเฉย มิได้มีคำสั่งระงับการก่อสร้างหรือมีคำสั่งประการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำการก่อสร้างต่อไป จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บและได้รับความเสียหาย จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีนายกเทศมนตรีเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ในการควบคุมดูแลการก่อสร้างหรือสิ่งก่อสร้างภายในเขตท้องที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่โดยสั่งให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ระงับการก่อสร้างกระเช้าลากเลื่อนที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือมีคำสั่งประการอื่นใดเพื่อให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บจากกระเช้าลากเลื่อนของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ที่อยู่ในสภาพชำรุดบกพร่อง อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฎิบัติตามมาตรา ๙ วรรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง อีกทั้งศาลจังหวัดพัทลุงก็เห็นว่าในส่วนของจำเลยที่ ๓ เป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
เมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์คือการที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ก่อสร้างและครอบครองกระเช้าลากเลื่อน ละเลยไม่ตรวจสอบ ซ่อมแซมบำรุงรักษากระเช้าลากเลื่อนให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้และปลอดภัย ส่วนการกระทำของจำเลยที่ ๓ ที่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์คือการที่จำเลยที่ ๓ ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายควบคุมอาคาร ละเลยต่อหน้าที่โดยไม่สั่งระงับการก่อสร้างกระเช้าลากเลื่อนที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายหรือไม่ออกคำสั่งอื่นใดเพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ที่เป็นการละเมิดต่อโจทก์จึงเป็น คนละการกระทำและเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ต่างคนต่างกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๓ มิได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามนัยมาตรา ๔๓๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ ๓ รับผิดตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งความผิดของจำเลยที่ ๓ ได้ แม้ตามคำขอของโจทก์จะขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ก็ตาม อีกทั้ง การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์มิอาจทำให้ข้อพิพาทตามคำฟ้องซึ่งเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลับกลายเป็น ข้อพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมไปได้ ดังนั้น คำขอท้ายฟ้องจึงเป็นเรื่องวิธีการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายแก่โจทก์ตามที่โจทก์มุ่งประสงค์เท่านั้น มิใช่เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจศาลแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในคดีที่มีหลายข้อหาในทำนองเดียวกันกับคดีนี้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้เคยวินิจฉัยให้แยกประเด็นพิจารณาและวินิจฉัยให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในแต่ละประเด็นแตกต่างกัน ได้แก่ คำวินิจฉัยชี้ขาดที่ ๓/๒๕๔๕ ที่ ๑๗/๒๕๔๕ ที่ ๒๔/๒๕๔๕ และที่ ๒๒/๒๕๔๖
ดังนั้น เมื่อข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ ๓ ได้ ตามมาตรา ๒๒๓ ประกอบกับมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้าง ควบคุม ดูแลรักษากระเช้าลากเลื่อนได้กระทำโดยประมาททำให้ลวดที่ใช้ลากกระเช้าขาดเป็นเหตุให้กระเช้าซึ่งโจทก์โดยสารตกลงมา ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บอันตรายสาหัส จำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ ๑ ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ด้วยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการก่อสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารรู้อยู่แล้วหรือควรจะรู้ว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ก่อสร้างกระเช้าลากเลื่อนโดยมิได้รับอนุญาตแต่กลับงดเว้นโดยการนิ่งเฉย มิได้มีคำสั่งระงับการก่อสร้าง จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บและได้รับความเสียหาย ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทั้งสองศาลเห็นพ้องกันว่า เป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชนด้วยกัน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คงเหลือประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่ทั้งสองศาลเห็นแย้งกัน เห็นว่า มูลละเมิดอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ได้ก่อสร้างกระเช้าลากเลื่อน (ลิฟต์) แล้ว กระทำโดยประมาททำให้ลวดที่ใช้ลากกระเช้าขาดเป็นเหตุให้กระเช้าซึ่งโจทก์โดยสารตกลงมา ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บอันตรายสาหัสเป็นหลัก ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องของเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากเอกชนด้วยกัน ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเพียงเพราะในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมดูแลหรืออนุญาตให้ก่อสร้างเท่านั้น เหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์จึงมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ ๓ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายอดิศักดิ์ พึ่งรอด โจทก์ นายสุสัมพันธ์ ขุทรานนท์ ที่ ๑ วัดคูหาสวรรค์ ที่ ๒ เทศบาลเมืองพัทลุง ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน