คำวินิจฉัยที่ 72/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๒/๒๕๕๕

วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๓ นายกิจพิพัฒน์ ชัยเวชการ โจทก์ ยื่นฟ้อง นายวรากร ดอกรัก ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลสระพังลาน ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๙๕๖/๒๕๕๓ หมายเลขแดงที่ ๑๑๓๒/๒๕๕๓ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๓ ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ใช้รถแบคโฮขุดลอกคลองระบายน้ำ ๒ ฝั่งขวาสองพี่น้อง ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๔๔๖๒ และเลขที่ ๓๔๙๐๐ ตำบลสระพังลาน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ทางด้านทิศเหนือ อันเป็นที่ดินที่โจทก์เช่าเพื่อทำสวนผักคะน้า โดยจำเลยที่ ๑ ขุดลอกคลองจากทางทิศตะวันตกย้อนมาทางทิศตะวันออกมาสิ้นสุดจดบริเวณทางหลวงแผ่นดินสาย ๓๒๑ หรือถนนมาลัยแมน ซึ่งเป็นบริเวณที่กรมทางหลวงได้ฝังท่อเพื่อให้น้ำจากคลองดังกล่าวไหลผ่านถนนมาลัยแมนไปยังอีกฝั่งหนึ่ง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันหรือแทนกันวางแผนดำเนินงานขุดลอกคลองดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ขาดการวางแผนที่ดีทั้งในขณะวางแผนและในขณะดำเนินงานขุดลอกคลองกระทำการโดยปราศจากความระมัดระวัง พร้อมทั้งไม่ศึกษาวิธีการลอกคลองที่เคยดำเนินมาก่อนหน้านั้น เป็นเหตุให้เศษผักตบชวา เศษวัชพืช และขยะที่ขุดลอกไปอุดท่อระบายน้ำช่วงจดถนนมาลัยแมนเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำไม่สามารถระบายไปอีกฝั่งหนึ่งของถนนมาลัยแมนได้ เกิดน้ำท่วมด้านฝั่งตะวันตกของถนนมาลัยแมนและท่วมสวนผักของโจทก์ทั้งสองแปลงเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ผักคะน้าของโจทก์เสียหายทั้งหมด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์รวมเป็นเงิน ๕๙๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า เหตุคดีนี้มิได้เกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยทั้งสาม แต่เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและตามขั้นตอนวิธีการทำงานเพื่อบรรเทาผลร้ายจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วมและเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อนดำเนินการขุดลอกวัชพืช จำเลยที่ ๓ ได้รับแจ้งว่า ประชาชนในหมู่ ๒, ๓, ๔ และ ๙ ตำบลสระพังลาน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากมีผักตบชวา วัชพืช ปกคลุมหนาแน่นในคลองระบายน้ำ ๒ ฝั่งขวาสองพี่น้อง และยังมีฝนตกชุก น้ำบ่าไหลหลากมาจากอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี จึงเกิดน้ำท่วมบ้านเรือน พืชผลทางการเกษตรของราษฎรในหมู่บ้านดังกล่าวได้รับความเสียหายมาก จำเลยที่ ๓ จึงขอให้จำเลยที่ ๒ นำเครื่องจักรกลมาใช้ขุดลอกวัชพืชในคลองระบายน้ำดังกล่าว อันเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน จำเลยทั้งสามได้กระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีการทำงานโดยมิได้มีการประมาทเลินเล่อ เหตุที่สวนผักของโจทก์ถูกน้ำท่วม เนื่องจากภาวะฝนตกชุกติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน และมีน้ำบ่าไหลหลากจากอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เข้าสมทบทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นประกอบกับบริเวณท่อระบายน้ำทิ้งใต้ถนนมาลัยแมนมีสิ่งอุดตันทำให้การไหลของน้ำไม่สะดวก และจำเลยทั้งสามได้ดำเนินการเอาวัสดุที่ติดอยู่ภายในท่อลอดใต้ถนนมาลัยแมนออกเพื่อให้น้ำไหลเวียนได้สะดวกขึ้น อันเป็นภัยธรรมชาติและเป็นเหตุสุดวิสัย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินควร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่การกระทำละเมิดตามที่โจทก์ฟ้องเป็นเพียงปฏิบัติการทางปกครองที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาเพื่อให้กิจการของฝ่ายปกครองเกิดผลสำเร็จเท่านั้น มิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร การกระทำละเมิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงเป็นการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มูลเหตุเกิดจากการที่จำเลยทั้งสามเข้ามาปฏิบัติการขุดลอกคลองระบายน้ำ ๒ ฝั่งขวาสองพี่น้อง เนื่องจากจำเลยที่ ๓ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งมีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร และการคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และหน้าที่อื่นๆ ภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๗ (๔) และมาตรา ๖๘ (๗) และ (๘) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นองค์การส่วนท้องถิ่นเช่นกัน จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมทั้งสนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง (๓) และมาตรา ๔๕/๑ แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ ประกอบมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้ เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้… (๒) การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ… (๒๙) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา ๑๖ ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้… (๒) การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาท้องถิ่น (๓) การประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้กระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ในการขุดลอกคลองระบายน้ำที่พิพาท ทั้งนี้ โดยมีราษฎรภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลสระพังลานมีหนังสือขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือขุดลอกผักตบชวาที่อุดตันทางระบายน้ำ ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนและพืชผลของเกษตรกร เมื่อจำเลยที่ ๓ ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีเหตุอุทกภัยจริง ดังนั้น เพื่อบรรเทาสาธารณภัยดังกล่าว จึงได้แก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนไปตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น และมีหนังสือขอความอนุเคราะห์จากจำเลยที่ ๒ ให้จัดส่งเครื่องจักรพร้อมเจ้าหน้าที่ออกไปช่วยเหลือ จึงเห็นว่า เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยขึ้นภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลสระพังลาน จำเลยที่ ๓ ในฐานะหน่วยงานทางปกครอง ย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้นให้หมดไป ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ดังจะเห็นได้ว่าในการดำเนินงานของจำเลยที่ ๓ นอกจากขุดลอกคลองซึ่งต้องมีอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติให้ทำได้แล้ว ยังต้องปิดถนนสูบน้ำไปทิ้งและขอการสนับสนุนการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่จากจำเลยที่ ๒ การใช้อำนาจบรรเทาสาธารณภัยของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นการกระทำทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หากเกิดความเสียหายดังโจทก์กล่าวอ้างจากการกระทำทางปกครองดังกล่าว คดีย่อมอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสามใช้รถขุดลอกคลองระบายน้ำ ๒ ฝั่งขวาสองพี่น้อง โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นเหตุให้มีมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลไปอุดท่อระบายน้ำ และเกิดน้ำท่วมสวนผักของโจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นราชการส่วนท้องถิ่น จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง โดยสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ตามมาตรา ๔๕ วรรคหนึ่ง (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ ประกอบกับมาตรา ๑๗ (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนจำเลยที่ ๓ มีหน้าที่บำรุงรักษาทางน้ำ รักษาความสะอาดของทางน้ำ รวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามมาตรา ๖๗ (๑) (๒) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ แจ้งให้จำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๑ ใช้รถแบคโฮขุดลอกคลองระบายน้ำ ๒ ฝั่งขวาสองพี่น้อง ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินที่โจทก์เช่าเพื่อทำสวนผักคะน้า เป็นเหตุให้เศษผักตบชวา เศษวัชพืช และขยะที่ขุดลอกไปอุดท่อระบายน้ำ เกิดน้ำท่วมสวนผักของโจทก์เสียหายทั้งหมด ขอให้ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ ใช้อำนาจตามกฎหมายในการบำรุงรักษาทางน้ำ รักษาความสะอาดของทางน้ำโดยกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล รวมถึงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลสระพังลาน และจำเลยที่ ๒ ใช้อำนาจตามกฎหมายในการสนับสนุนและให้ความร่วมมือการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ในการกำจัดวัชพืชในคลองระบายน้ำ อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดทำบริการสาธารณะ เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายกิจพิพัฒน์ ชัยเวชการ โจทก์ นายวรากร ดอกรัก ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ ๒ องค์การบริหารส่วนตำบลสระพังลาน ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share