แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๕/๒๕๕๕
วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๕
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๔ นายไพบูลย์ มณีนพรัตน์ โจทก์ ยื่นฟ้อง เทศบาลตำบลแปลงยาว ที่ ๑ นายสรายุทธ ศักดิ์ประศาสน์ ที่ ๒ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ ๓ การประปาส่วนภูมิภาค ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๒/๒๕๕๔ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๙๑ และเลขที่ ๑๕๗๐๗ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ ตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๙๓ ตารางวา และเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ๒ งาน ๑๐ ตารางวา ตามลำดับ แต่เมื่อปี ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลแปลงยาว ได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยก่อสร้างถนนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง กล่าวคือ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนตามโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก สายแยกถนนสายบางบ่อ-หนองครก ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๖ โดยว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ดำเนินการก่อสร้าง แต่เมื่อผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างถนนปรากฏว่าประชาชนผู้อยู่อาศัยในซอย ๑๑ คัดค้านการก่อสร้าง จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ จึงระงับการก่อสร้างและย้ายโครงการก่อสร้างถนนดังกล่าวไปก่อสร้างในซอยถัดไปซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงข้างต้น ในการก่อสร้างถนนดังกล่าวจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๙๑ ของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกตลอดแนวที่ดิน และตัดผ่านเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๗๐๗ ของโจทก์ รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๒๐ ตารางวาเศษ และในเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๓ โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาบางคล้าได้ปักเสาไฟฟ้ารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์จำนวน ๓ ต้น และเดินพาดสายไฟตามแนวขอบถนนคอนกรีตด้านทิศตะวันออกตลอดแนวที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๔ โดยการประปาส่วนภูมิภาค สาขาบางคล้า ได้เข้าไปวางท่อประปาตามแนวถนนคอนกรีตด้านทิศตะวันออกตลอดแนวที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง โจทก์แจ้งและร้องเรียนจำเลยที่ ๑ ให้ตรวจสอบและดำเนินการรื้อถอนถนนคอนกรีตส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์แล้ว แต่ไม่ได้รับคำชี้แจง โจทก์ได้รู้ถึงเหตุที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ กระทำละเมิดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๓ อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินแปลงพิพาททั้งสองแปลงตามคำขอของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ ๑ คัดค้านการรังวัด เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการไกล่เกลี่ยแล้ว แต่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ตกลงกันไม่ได้ โจทก์เห็นว่า การก่อสร้างถนนดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อนโยบายของจำเลยที่ ๑ ที่มีโครงการก่อสร้างถนนที่ซอย ๑๑ มิใช่ก่อสร้างในซอยถัดไปซึ่งเป็นที่ตั้งที่ดินพิพาทและเมื่อมีการย้ายโครงการก่อสร้างถนนที่ซอย ๑๑ มาก่อสร้างในซอยถัดไปแล้ว จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ มิได้ตรวจสอบแนวเขตที่ดินให้ชัดเจนก่อนสั่งการให้ผู้รับจ้างลงมือก่อสร้าง เป็นเหตุให้มีการก่อสร้างถนนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำผิดกฎหมายและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รื้อถอนถนนคอนกรีต เสาไฟฟ้า ท่อประปา ขนย้ายสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๙๑ และเลขที่ ๑๕๗๐๗ และปรับพื้นที่ให้กลับคืนสภาพเดิม ห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่เกี่ยวข้องกับที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะรื้อถอนขนย้ายสิ่งก่อสร้างออกไปจนหมดสิ้น หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ถนนพิพาทเดิมเป็นถนนดินที่ประชาชนใช้สัญจรไปมาเป็นเวลามากกว่าสี่สิบปี ต่อมาอำเภอแปลงยาวได้ถมถนนดังกล่าวเป็นถนนลูกรัง และประชาชนได้ใช้ประโยชน์เป็นทางสัญจรมาเป็นเวลากว่าสิบปีจนประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นทางสาธารณะ โดยโจทก์ไม่เคยคัดค้านหรือสงวนสิทธิว่าถนนพิพาทรุกล้ำที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ และประชาชนทั่วไปใช้ถนนดังกล่าวเสมือนเป็นทางสาธารณะโดยไม่ได้มีการขออนุญาตโจทก์ ดังนั้น เมื่อปี ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑ จึงเข้าไปก่อสร้างถนนคอนกรีตในถนนลูกรังเดิม เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นทางสาธารณะ และแม้ทางพิพาทจะรุกล้ำที่ดินโจทก์แต่เมื่อประชาชนทั่วไปได้ใช้ทางพิพาทมามากว่า ๔๐ ปีแล้ว ดังนั้นที่ดินโจทก์ที่เป็นถนนเนื้อที่ประมาณ ๑๒๐ ตารางวา จึงเป็นทางภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายแล้ว คดีขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีขาดอายุความ ค่าเสียหายสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ได้กระทำการตามข้อเท็จจริงตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ แล้ว เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างถนนคอนกรีตตามแนวถนนลูกรังเดิมซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชนทั่วไปมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยที่โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน อันถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาสละการครอบครองที่ดินที่เป็นทางพิพาทดังกล่าวและอุทิศให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ไม่ได้ปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟเข้าไปในที่ดินของโจทก์ แต่ได้ปักเสาและพาดสายไฟไปตามถนนสาธารณะหรือถนนภาระจำยอมที่ประชาชนใช้เป็นทางเข้าออกมาเป็นเวลาหลายสิบปีตามคำร้องขอของจำเลยที่ ๑ การที่โจทก์นำที่ดินทั้งแปลงมากล่าวอ้างสิทธิทั้งหมดเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินบางส่วนที่เป็นถนนได้ถูกรอนสิทธิโดยผลของกฎหมายไปแล้ว โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ การที่จำเลยที่ ๔ วางท่อประปาในบริเวณดังกล่าวเป็นความเข้าใจโดยสุจริตว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน คดีนี้เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป ดังนั้นจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่ความ อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๖/๒๕๕๐
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จำเลยที่ ๓ เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ และจำเลยที่ ๔ เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒ จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๒ ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลแปลงยาวอยู่ในเวลาที่มีเหตุพิพาทซึ่งมีหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาล ตามมาตรา ๔๘ สัตตรส แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ จำเลยที่ ๒ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นภายในเขตเทศบาล โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นผู้กระทำการแทนตามมาตรา ๕๐ (๒) ประกอบมาตรา ๔๘ สัตตรส แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และมาตรา ๑๖ (๒) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๓ จัดตั้งขึ้นโดยวัตถุประสงค์ในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า … ตามนัยมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๐๓ และเพื่อประโยชน์ในการสร้างและบำรุงรักษาซึ่งระบบการส่งพลังงานไฟฟ้า จำเลยที่ ๓ มีอำนาจเดินสายส่งศักย์สูงหรือสายส่งศักดิ์ต่ำไปใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใดๆ หรือปักหรือตั้งเสาสถานีไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ต่างๆ ลงใน หรือบนพื้นดินของบุคคลใดๆ ในเมื่อพื้นดินนั้นไม่ใช่พื้นดิน อันเป็นที่ตั้งโรงเรือนได้ ตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จำเลยที่ ๔ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบและส่งเสริมธุรกิจการประปา โดยการสำรวจจัดหาแหล่งน้ำดิบ และจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบ เพื่อใช้ในการผลิต จัดส่งและจำหน่ายน้ำประปา… ตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งในการผลิต การส่ง และการจำหน่ายน้ำประปา จำเลยที่ ๔ มีอำนาจเดินท่อน้ำและติดตั้งอุปกรณ์ไปใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของของบุคคลใดๆ ในเมื่อที่ดินนั้นมิใช่ที่ตั้งโรงเรือนสำหรับอยู่อาศัยเพื่อประโยชน์ในการสร้างและบำรุงรักษาระบบการผลิต การส่งและจำหน่ายน้ำประปา ตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ดังนั้นการดำเนินโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กภายในเขตเทศบาลตำบลแปลงยาวของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ การปักเสาไฟฟ้าและพาดสายไฟฟ้าตามแนวขอบถนนคอนกรีตเสริมเหล็กของจำเลยที่ ๓ ตามที่จำเลยที่ ๑ มีหนังสือร้องขอเพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้มีไฟฟ้าใช้ และการวางท่อประปาพร้อมติดตั้งมาตรวัดตามแนวขอบถนนคอนกรีตเสริมเหล็กของจำเลยที่ ๔ ตามคำร้องขอของผู้ขอใช้บริการ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก การสร้างระบบการส่งพลังงานไฟฟ้า และการเดินท่อน้ำและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อส่งและจำหน่ายน้ำประปาตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสี่ตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายของจำเลยทั้งสี่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้โดยสั่งให้จำเลยทั้งสี่ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามคำขอของโจทก์ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สำหรับประเด็นที่พิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือเป็นทางสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทางภาระจำยอมนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงหนึ่งในหลายประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาคดีเท่านั้น หามีผลทำให้คดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งไปได้ไม่ และแม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในทางพิพาทจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาบังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ประกอบกับจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมิใช่เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิครอบครองที่สาธารณประโยชน์ แต่เป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก การสร้างระบบการส่งพลังงานไฟฟ้าและการเดินท่อน้ำและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อส่งและจำหน่ายน้ำประปาตามที่กฎหมายกำหนดข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทระหว่างผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในที่ดินด้วยกันเองดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไป คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๙๑ และเลขที่ ๑๕๗๐๗ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๙ ตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๙๓ ตารางวา และเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ๒ งาน ๑๐ ตารางวา ตามลำดับ แต่เมื่อปี ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลแปลงยาว ได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยก่อสร้างถนนรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง กล่าวคือ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนตามโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก สายแยกถนนสายบางบ่อ-หนองครก ประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๖ โดยว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ดำเนินการก่อสร้าง แต่เมื่อผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างถนนปรากฏว่าประชาชนผู้อยู่อาศัยในซอย ๑๑ คัดค้านการก่อสร้าง จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ จึงระงับการก่อสร้างและย้ายโครงการก่อสร้างถนนดังกล่าวไปก่อสร้างในซอยถัดไปซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงข้างต้น ในการก่อสร้างถนนดังกล่าวจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้สั่งการให้ผู้รับจ้างก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๙๑ ของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกตลอดแนวที่ดิน และตัดผ่านเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๗๐๗ ของโจทก์ รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๒๐ ตารางวาเศษ และในเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๓ โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขาบางคล้าได้ปักเสาไฟฟ้ารุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์จำนวน ๓ ต้น และเดินพาดสายไฟตามแนวขอบถนนคอนกรีตด้านทิศตะวันออกตลอดแนวที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๔ ได้เข้าไปวางท่อประปาตามแนวถนนคอนกรีตด้านทิศตะวันออกตลอดแนวที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลง โจทก์แจ้งและร้องเรียนจำเลยที่ ๑ ให้ตรวจสอบและดำเนินการรื้อถอนถนนคอนกรีตส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์แล้ว แต่ไม่ได้รับคำชี้แจง โจทก์ได้รู้ถึงเหตุที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ กระทำละเมิดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๓ อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดสอบเขตที่ดินแปลงพิพาททั้งสองแปลงตามคำขอของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ ๑ คัดค้านการรังวัด เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการไกล่เกลี่ยแล้ว แต่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ตกลงกันไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำผิดกฎหมายและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รื้อถอนถนนคอนกรีต เสาไฟฟ้า ท่อประปา ขนย้ายสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๙๑ และเลขที่ ๑๕๗๐๗ และปรับพื้นที่ให้กลับคืนสภาพเดิม ห้ามมิให้จำเลยทั้งสี่เกี่ยวข้องกับที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสี่ให้การโดยสรุปว่า ได้กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างถนนคอนกรีตตามแนวถนนลูกรังเดิมซึ่งเป็นทางสัญจรของประชาชนทั่วไปมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยที่โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน อันถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาสละการครอบครองที่ดินที่เป็นทางพิพาทดังกล่าวและอุทิศให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้ว จำเลยที่ ๓ ปักเสาและพาดสายไฟไปตามถนนสาธารณะหรือถนนภาระจำยอมที่ประชาชนใช้เป็นทางเข้าออกมาเป็นเวลาหลายสิบปีตามคำร้องขอของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ วางท่อประปาในบริเวณดังกล่าวเป็นความเข้าใจโดยสุจริตว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทั้งสี่ยังโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งการที่ศาลจะพิพากษาตามที่โจทก์มีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีกรรมสิทธิ์หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายไพบูลย์ มณีนพรัตน์ โจทก์ เทศบาลตำบลแปลงยาว ที่ ๑ นายสรายุทธ ศักดิ์ประศาสน์ ที่ ๒ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ ๓ การประปาส่วนภูมิภาค ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ