คำวินิจฉัยที่ 78/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๘/๒๕๕๕

วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๕

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองพิษณุโลก
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพิษณุโลก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองพิษณุโลกโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายคำจันทร์ อิ่นแก้ว ที่ ๑ นางแจง อิ่นแก้ว ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ ที่ ๑ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าโพธิ์ ที่ ๒ กำนันตำบลท่าโพธิ์ ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองพิษณุโลกเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๒๗/๒๕๕๒ ต่อมา ศาลปกครองพิษณุโลกมีคำสั่งเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และกระทรวงมหาดไทยเข้ามาเป็นคู่กรณีด้วยการร้องสอด โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดำเนินโครงการขุดลอกหนองสามคลอง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เสนอและได้รับอนุมัติจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ รุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิครอบครอง ทำให้พืชผลการเกษตรและบ่อปลาของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหาย โดยผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรมีน้ำจากคลองชลประทานตลอดปี ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการดังกล่าว ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีหยุดและยกเลิกการดำเนินโครงการขุดลอกหนองสามคลอง โดยทำการปรับปรุงที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิม และชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเงิน ๓๗๐,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
ศาลปกครองพิษณุโลกมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนที่ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ เนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการกระทำละเมิดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ปฏิบัติราชการในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ และเป็นผู้อนุมัติงบประมาณของจังหวัดพิษณุโลก โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้อนุมัติโครงการพร้อมมอบอำนาจให้นายอำเภอเมืองพิษณุโลกปฏิบัติราชการในการดำเนินการที่พิพาทกันเป็นคดีนี้จริง ที่ดินพิพาทตั้งอยู่บริเวณหนองสามคลอง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ อยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลก ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ ตำบลบ้านกร่าง ตำบลพลายชุมพล ตำบลบ้านคลอง ตำบลวัดจันทร์ ตำบลท่าทอง ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก และตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ให้เป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๒๔ และสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดพิษณุโลกไม่ขัดข้องที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์จะขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ ก่อนเริ่มดำเนินการขุดลอกหนองสามคลอง ผู้แทนอำเภอเมืองพิษณุโลก กำนันตำบลท่าโพธิ์และผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑๑ ตำบลท่าโพธิ์ ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับราษฎรที่เข้าไปทำกินอยู่ในแนวเขตหนองสามคลองว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นโครงการขุดคลองบริเวณโดยรอบหนองสามคลองตามแนวที่สำนักงานที่ดินได้รังวัดไว้ โดยจะไม่ห้ามราษฎรที่เข้าไปทำกินอยู่แล้วจะทำกินต่อไป ราษฎรรับทราบและร่วมกันลงชื่อไว้ โดยผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ก็ร่วมลงชื่อไว้ด้วย เป็นการรับรู้และยินยอมให้ดำเนินการตามโครงการ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากที่ดินหนองสามคลองเป็นที่สาธารณประโยชน์และอยู่ในระหว่างดำเนินการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ขอให้ยกฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๕ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับรัฐ ซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามมาตรา ๗๐ (๔) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน การดำเนินการตามโครงการขุดลอกหนองสามคลอง หมู่ที่ ๑๑
ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นมูลเหตุที่พิพาทในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามแผนพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่จัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นในการบำรุงรักษาทางน้ำและป้องกันสาธารณภัย ตามมาตรา ๖๗ (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ประกอบกับมาตรา ๑๖ (๒) และ (๒๙) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอเมืองพิษณุโลกในการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา ๖๑/๑ (๑) ประกอบกับมาตรา ๕๒/๑ วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ในการร่วมกันดำเนินการขุดลอกหนองสามคลองตามโครงการพิพาท ถือได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ในการบริหารราชการให้เป็นไปตามแผนพัฒนาจังหวัด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการขุดลอกคลองรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทำประโยชน์และมีสิทธิครอบครอง จำนวนเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่ โดยมีหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ทำให้พืชผลการเกษตรและบ่อปลาของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหายคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ และบ่อเลี้ยงปลา ๑ ไร่ ขอให้ศาลสั่งห้ามผู้ถูกฟ้องคดีขุดที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง และให้ผู้ถูกฟ้องคดียกเลิกโครงการขุดลอกหนองสามคลอง หมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามทำที่ดินพิพาทให้กลับสู่สภาพเดิม และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน จำนวน ๓๗๐,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง กรณีคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการดำเนินโครงการพิพาทและทำที่พิพาทให้กลับสู่สภาพเดิม รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ “หนองสามคลอง”ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๕ กล่าวอ้างในคำร้องนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงหนึ่งในหลายประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีเท่านั้น หามีผลทำให้คดีซึ่งเป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งไปได้ไม่ และแม้การพิจารณาในเรื่องการได้สิทธิครอบครองหรือการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินในที่พิพาทจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้า ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มิใช่ผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิครอบครองที่สาธารณประโยชน์ แต่เป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการบำรุงรักษาทางน้ำและป้องกันสาธารณภัย รวมทั้งการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนด ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทระหว่างผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินด้วยกันเองดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไป เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๒๓ ประกอบกับมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองว่าร่วมกันทำละเมิดบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยการขุดคลองบริเวณโดยรอบหนองสามคลองรวมถึงที่ดินที่พิพาท ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีหยุดและยกเลิกโครงการขุดลอกหนองสามคลอง และให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์และอยู่ในระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย จึงเป็นการโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งการที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองร่วมกันทำละเมิด โดยการขุดคลองบริเวณโดยรอบหนองสามคลองหมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองได้รับความเสียหายขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีหยุด ยกเลิกโครงการขุดลอกหนองสามคลองกับปรับปรุงที่ดินพิพาทให้กลับสู่สภาพเดิมและให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์และอยู่ในระหว่างขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งการที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองมีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายคำจันทร์ อิ่นแก้ว ที่ ๑ นางแจง อิ่นแก้ว ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ ที่ ๑ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าโพธิ์ ที่ ๒ กำนันตำบลท่าโพธิ์ ที่ ๓ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ที่ ๔ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สถาพร เกียรติภิญโญ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สถาพร เกียรติภิญโญ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share