คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4635/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าหลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วโจทก์ได้รับเงินต่าง ๆจากจำเลยและโจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการที่จะเรียกร้องเงิน หรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลยเมื่อเป็นข้อที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว แม้ศาลแรงงานมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นโดยตรงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ หรือการที่โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามบันทึกดังกล่าวแล้ว โจทก์มีสิทธิเรียกร้อง ค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยอีกหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อศาลแรงงานได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่หากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สมควรที่จะให้จำเลย รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือให้ใช้ค่าเสียหายเพียงใด ดังนั้น ประเด็นที่ว่าให้ใช้ค่าเสียหายเพียงใดจึงเป็นประเด็น ซึ่งครอบคลุมถึงข้อต่อสู้ดังกล่าวของจำเลยไว้ด้วยแล้ว จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อกฎหมายซึ่งศาลแรงงานมิได้นำมาวินิจฉัย แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานฟังมาพอแก่ การวินิจฉัย ปัญหาข้อกฎหมายแล้วศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานพิพากษาใหม่ ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานฟังมาเป็นยุติว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์และจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทน การบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 7 เดือนเป็นเงิน 560,000 บาท เงินช่วยเหลือจำนวน 300,000 บาทและเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 872,374 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว และโจทก์ได้ทำหนังสือรับเงินชดเชย ค่าตอบแทนในการเลิกจ้างให้ไว้แก่จำเลยระบุว่า โจทก์ขอสละสิทธิ์ในการที่จะเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้น เมื่อค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ มิใช่เป็นเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนโจทก์ย่อมสละเงินดังกล่าวได้การที่โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการเรียกร้องเงินดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและจำเลยไม่ได้แจ้งสาเหตุของการเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มีความประสงค์จะกลับเข้าทำงานกับจำเลย หากไม่อาจกลับเข้าทำงานได้ขอเรียกค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้าง 30 เดือน เป็นเงิน 2,400,000 บาทขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิมหรือจ่ายค่าเสียหายจำนวน2,400,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า สาเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อจำเลยกล่าวคือโจทก์ใช้อำนาจบังคับบัญชาหัวหน้าพนักงานขายและพนักงานขายโดยไม่เป็นธรรม หากรักชอบผู้ใต้บังคับบัญชาผู้ใดก็จะสนับสนุนหากไม่ชอบก็จะกลั่นแกล้งและบังคับให้ลาออก จำเลยเคยว่ากล่าวตักเตือนโจทก์หลายครั้ง แต่โจทก์ไม่ยอมปรับปรุงข้อบกพร่อง จำเลยมีงบส่งเสริมการขายเพื่อมอบสิ่งของให้แก่ลูกค้าเป็นการสมนาคุณลูกค้าที่ได้สั่งซื้อสินค้าจากจำเลยตามเป้าหมายที่กำหนด โดยมีโจทก์เป็นผู้ดำเนินการ ปรากฏว่าจำเลยได้รับคำร้องเรียนจากลูกค้าว่าสิ่งของสมนาคุณมักได้รับไม่ครบหรือไม่เป็นไปตามที่ตกลง จากการตรวจสอบพบว่าโจทก์กระทำการไม่ถูกต้องตามที่ลูกค้าร้องเรียนจริง ต่อมาจำเลยจึงตกลงกับโจทก์แจ้งเหตุผลดังกล่าวให้โจทก์ทราบและเลิกจ้างโจทก์โดยปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกประการในการเลิกจ้างจำเลยจ่ายเงินเดือนเดือนสุดท้ายให้โจทก์จำนวน 80,000 บาท เงินค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 6 เดือนเป็นเงิน 480,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน80,000 บาท รวมเป็นเงิน 560,000 บาท โดยโจทก์ตกลงกับจำเลยว่าขอสละสิทธิในการเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้น นอกจากนี้จำเลยยังจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่โจทก์จะได้รับตามข้อตกลงการจ้างเท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน เป็นเงิน 160,000 บาท โดยจำเลยยอมจ่ายให้โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท โจทก์ยินยอมให้จำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์ได้รับค่าตอบแทนจนเป็นที่พอใจแล้วและไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดอีกจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง7 เดือน เป็นเงิน 560,000 บาท เงินช่วยเหลือจำนวน 300,000 บาทและเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 872,374 บาท ให้โจทก์แล้วหลังจากนั้นโจทก์ฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่าเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและไม่ซื่อสัตย์สุจริตโดยอ้างเหตุ 2 ประการได้แก่ โจทก์ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาโดยไม่เป็นธรรม และโจทก์ทุจริตงบส่งเสริมการขาย สำหรับเหตุข้อแรกนั้นฟังได้ว่าโจทก์ปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาโดยลำเอียงโจทก์ให้ความสนใจแก่พนักงานซึ่งเป็นญาติของโจทก์เท่านั้น ไม่ค่อยให้ความสนใจพนักงานอื่นจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง แต่จำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือนอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้มีอำนาจตัดสินใจเลิกจ้างพนักงาน การที่จำเลยจะเลิกจ้างพนักงานคนใดของจำเลยเป็นอำนาจของผู้อำนวยการฝ่ายขายส่วนเหตุข้อสองที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ทุจริตงบส่งเสริมการขายนั้นข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งของสมนาคุณหรือทุจริตเงินสมนาคุณลูกค้าจำนวน 600,000 บาท ซึ่งเป็นงบส่งเสริมการขายให้แก่โรงพยาบาลเปาโล และการที่โจทก์โอนโทรศัพท์มือถือให้แก่ลูกค้าก็เป็นไปโดยจำเลยรู้เห็นยินยอม โจทก์ไม่ได้ทุจริตในการโอนโทรศัพท์ดังกล่าวให้แก่ลูกค้าดังที่จำเลยอ้าง สำหรับข้อที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ทุจริตโดยปลอมใบเสร็จรับเงินค่าน้ำมันรถยนต์นั้นจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ ศาลแรงงานกลางไม่วินิจฉัย ดังนั้นการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องดังกล่าว แต่จำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 300,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า หลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วโจทก์ได้รับเงินต่าง ๆ จากจำเลยและโจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการที่จะเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้นตามเอกสารหมาย ล.4 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากจำเลย การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยค่าเสียหายแก่โจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ประเด็นข้อนี้จำเลยให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การ แม้ศาลแรงงานกลางมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นโดยตรงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ หรือการที่โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามบันทึกดังกล่าวแล้วโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยอีกหรือไม่ แต่ศาลแรงงานกลางก็กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าข้อ 1 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ข้อ 2 หากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม สมควรที่จะให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือให้ใช้ค่าเสียหายเพียงใด เห็นว่า ตามประเด็นข้อ 2 ที่ว่าให้ใช้ค่าเสียหายเพียงใด เป็นประเด็นซึ่งครอบคลุมถึงข้อต่อสู้ดังกล่าวของจำเลยไว้ด้วยแล้ว ประเด็นข้อนี้เป็นข้อกฎหมายซึ่งศาลแรงงานกลางมิได้นำมาวินิจฉัย แต่ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมาพอแก่การวินิจฉัยแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาใหม่ ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้าง 7 เดือน เป็นเงิน 560,000 บาท เงินช่วยเหลือจำนวน 300,000 บาท และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 872,374 บาทให้แก่โจทก์แล้ว เห็นว่าหนังสือรับเงินชดเชย ค่าตอบแทนในการเลิกจ้างข้อ 3 ระบุว่า โจทก์ขอสละสิทธิในการที่จะเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินหรือข้อเรียกร้องอื่นใดตามกฎหมายต่อไปทั้งสิ้นเห็นได้ว่า หลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วโจทก์ตกลงรับเงินดังกล่าวจากจำเลยและโจทก์สละสิทธิที่จะเรียกร้องเงินอื่นใดตามกฎหมายจากจำเลยอีกต่อไปค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เป็นเงินตามกฎหมายอย่างหนึ่งแต่มิใช่เป็นเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ย่อมสละเงินดังกล่าวได้การที่โจทก์ทำบันทึกสละสิทธิในการเรียกร้องเงินดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share