แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลรถบรรทุกคันเกิดเหตุ จึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฯ กฎกระทรวงเงื่อนไข คำสั่งและระเบียบ ซึ่งออกโดยอาศัยกฎหมายดังกล่าวและตามที่ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลระบุไว้ และต้องเป็นการขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ควรทราบดีว่าจำเลยที่ 1ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุการที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปประกอบการขนส่ง จึงเป็นการประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 2 อาจทำให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าใจว่าเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 87-2069 กรุงเทพมหานคร ในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ประกันภัยมาด้วยความประมาทชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 จ-3290 กรุงเทพมหานครที่โจทก์รับประกันภัยไว้จากนายไพรัตน์ ต่ายใหญ่เที่ยง ได้รับความเสียหายไม่สามารถซ่อมแซมได้ โจทก์จึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทสินเพิ่มพูนลิสซิ่ง จำกัด ผู้รับประโยชน์ไปเป็นเงิน 107,000 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 108,337 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 107,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1ขับไปเกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่ามิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 87-2069 กรุงเทพมหานคร จากจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 90,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน1,337 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 80,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 238 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้ขอจดทะเบียนและได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลด้วยรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 87-2069 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นคันเกิดเหตุตามรายชื่อผู้ประกอบการขนส่งและใบอนุญาตประกอบการขนส่งเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จำเลยที่ 1 ได้เช่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองรถยนต์บรรทุกมาโดยตลอด ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุบรรทุกทรายโดยประมาทชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 จ-3290 กรุงเทพมหานคร ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้วมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 หรือไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 บัญญัติว่าบุคคลใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวของเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน เห็นว่า การที่จะฟังว่าเป็นตัวแทนเชิดหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละเรื่อง สำหรับคดีนี้ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลรถบรรทุกคันเกิดเหตุ จึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4(5), 34 กฎกระทรวงเงื่อนไข คำสั่ง และระเบียบ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมายดังกล่าวและตามที่ใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลระบุไว้และต้องเป็นการขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของจำเลยที่ 2 เท่านั้น แต่จำเลยที่ 2 ได้ให้จำเลยที่ 1เช่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและยอมให้ประกอบกิจการขนส่งเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ควรจะทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ เพราะจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขอจดทะเบียนประกอบการขนส่งรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2ยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปประกอบการขนส่ง จึงเป็นการประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 2 และอาจทำให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าใจได้ว่าเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 1จะเช่ารถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 2 ก็เป็นเพียงการครอบครองรถยนต์บรรทุกพิพาทตามสัญญาเช่าเท่านั้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 427 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน