คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อความตามสัญญาเช่าช่วงที่ระบุว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นตามสัญญาเช่าให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน ชี้ขาดนั้น เป็นข้อตกลงระหว่างผู้เช่ากับจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าช่วงไม่เกี่ยวกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าเดิม ผู้เช่าและโจทก์ผู้ให้เช่าเดิมจะทำการโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่กันไม่ได้เว้นแต่จะได้รับยินยอมเป็นหนังสือจากจำเลยโดยชัดแจ้ง และการโอนจะต้องทำเป็นหนังสือตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306การตั้งตัวแทนเพื่อการโอนดังกล่าวจึงต้องกระทำเป็นหนังสือด้วย
เมื่อไม่ได้ความว่า ผู้เช่าได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าช่วงแก่โจทก์ผู้ให้เช่าเดิม การที่โจทก์เสนอข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามสัญญาเช่าช่วงต่ออนุญาโตตุลาการ และอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบจะนำคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมาบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามมิได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายของประเทศปานามา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2519 บริษัทเอเซียติก บัลก์ เซอรวิสเสส (ฮ่องกง) จำกัด ได้ทำสัญญาเช่าเรือกับโจทก์โดยมีข้อกำหนดให้เช่าช่วงได้ วันที่ 29 ตุลาคม 2519 บริษัทเอเซียติกบัลก์ เซอร์วิสเสส จำกัด ให้จำเลยเช่าช่วงเรือดังกล่าว ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2520 บริษัทเอเซียติก บัลก์ เซอร์วิสเสส (ฮ่องกง) จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องบรรดาที่มีต่อจำเลยตามสัญญาเช่าช่วงให้โจทก์ โจทก์ได้แจ้งการโอนดังกล่าวเป็นหนังสือให้จำเลยทราบ ตามสัญญาเช่าเรือที่จำเลยทำไว้กับบริษัทเอเซียติก บัลก์เซอร์วิสเสส (ฮ่องกง) จำกัด ข้อ 23 ระบุว่า หากมีข้อพิพาทโต้แย้งเกิดขึ้น ให้คู่สัญญานำข้อพิพาทเสนออนุญาโตตุลาการในนครลอนดอนเป็นผู้ชี้ขาดจำเลยไม่ชำระค่าเช่า โจทก์จึงได้เสนอข้อพิพาทไปยังอนุญาโตตุลาการที่กรุงลอนดอน วันที่ 26 เมษายน 2522อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยใช้เงิน 164,946.82เหรียญสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2520 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการอีก 575 ปอนด์สเตอร์ลิง คิดเป็นเงินถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 4,199,091.42 บาท ขอให้จำเลยใช้เงินจำนวน 4,199,091.42 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องไม่มีผลตามกฎหมาย เกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการจะตั้งขึ้นได้เฉพาะกรณีข้อพิพาทเกิดขึ้นตามสัญญา คดีนี้ข้อพิพาทเกิดจากการโอนสิทธิเรียกร้องจะตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาดไม่ได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเป็นฟ้องซ้ำและขาดอายุความ จำเลยไม่ได้ผิดนัด อัตราแลกเปลี่ยนตามฟ้องไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรือคริสโตส เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2519โจทก์ให้บริษัทเอเซียติก บัลก์ เซอร์วิสเสส (ฮ่องกง) จำกัด เช่าเรือดังกล่าวไป โดยมีข้อตกลงยินยอมให้เช่าช่วงได้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 วันที่ 29 ตุลาคม 2519 บริษัทเอเซียติก บัลก์เซอร์วิสเสส (ฮ่องกง) จำกัด ทำสัญญาให้จำเลยเช่าเรือดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งสัญญาระบุว่าหากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาเช่าเรือให้นำข้อพิพาทเสนออนุญาโตตุลาการแห่งกรุงลอนดอนชี้ขาด ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2520 บริษัทเอเซียติก บัลก์ เซอร์วิสเสส(ฮ่องกง) จำกัด โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ให้แก่โจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 โจทก์ได้มอบให้นายวิลเลี่ยม เจ. ไมลส์ มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาเมื่อจำเลยส่งมอบเรือคืนแก่โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระค่าเช่าเรือจำนวน 174,855.68 เหรียญสหรัฐอเมริกา จำเลยอ้างว่ามีหนี้ค้างชำระอยู่เพียง 21,194.06 เหรียญสหรัฐอเมริกาโจทก์ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการแห่งกรุงลอนดอนชี้ขาดจำเลยไม่ยอมแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายจำเลย อนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 164,946.82เหรียญสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการอีก 575 ปอนด์สเตอร์ลิงตามเอกสารหมาย จ.7 คิดเป็นเงินไทยรวมทั้งสิ้นจำนวน 3,491,073.11 บาทจำเลยทราบคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เห็นว่า ข้อความตามสัญญาเช่า เอกสารหมายจ.3 ที่ระบุว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นตามสัญญาเช่าให้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน ชี้ขาดนั้น เป็นข้อตกลงระหว่างบริษัทเอเซียติก บัลก์ เซอร์วิสเสส (ฮ่องกง) จำกัด กับจำเลยไม่เกี่ยวกับโจทก์ สิทธิและหน้าที่ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นของคู่สัญญาคือ บริษัทเอเซียติก บัลก์ เซอร์วิสเสส (ฮ่องกง) จำกัดกับจำเลยโดยเฉพาะ บริษัทเอเซียติก บัลก์ เซอร์วิสเสส (ฮ่องกง) จำกัดและโจทก์จะทำการโอนสิทธิดังกล่าวให้แก่กันไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับการยินยอมเป็นหนังสือจากจำเลยโดยชัดแจ้ง และการโอนจะต้องทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306การตั้งตัวแทนเพื่อการกระทำดังกล่าวต้องกระทำเป็นหนังสือด้วย แต่ปรากฏว่าหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัทเอเซียติก บัลก์เซอร์วิสเสส (ฮ่องกง) จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.4 ลงชื่อตัวแทนของบริษัทเอเซียติก บัลก์ เซอร์วิสเสส (ฮ่องกง) จำกัด โดยไม่ปรากฏว่ามีการมอบอำนาจหรือแต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบส่วนเอกสารหมาย จ.5 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยนั้น ก็มีข้อความเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าช่วงที่ค้างชำระโดยอ้างสิทธิจากการโอนสิทธิเรียกร้องเท่านั้น และไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้ยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้นแล้ว การที่จำเลยรับหนังสือเอกสารหมายจ.5 แล้วนิ่งเสียไม่คัดค้าน จะถือว่าจำเลยยินยอมโดยปริยายหาได้ไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าได้มีการแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยและจำเลยได้ยินยอมแล้ว เมื่อไม่ได้ความว่าบริษัทเอเซียติก บัลก์ เซอร์วิสเสส (ฮ่องกง) จำกัด ได้โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ และได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแก่จำเลยโดยชอบ การที่โจทก์เสนอข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามสัญญาเช่าต่ออนุญาโตตุลาการ และอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบจะนำคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมาบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามมิได้ คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในประเด็นอื่นอีก ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share