คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3767/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยขับรถแท็กซี่พาผู้เสียหายไปถึงปากทางเข้าหมู่บ้านการเคหะบางพลี ผู้เสียหายบอกจำเลยให้ขับรถไปส่งในหมู่บ้าน แต่จำเลยกลับขับรถเลยไปโดยพูดกับผู้เสียหายว่าขอควงผู้เสียหายไปเที่ยวบางแสน เมื่อจำเลยขับรถไปถึงบริเวณหน้าวัดหอมศีล จำเลยเลี้ยวรถกลับมุ่งไปทางกรุงเทพมหานคร และไปจอดอยู่ริมทางหน้าวัดหอมศีลซึ่งอยู่เลยทางเข้าหมู่บ้านการเคหะบางพลีประมาณ 10 กิโลเมตรระหว่างนั้นจำเลยได้ดึงตัวผู้เสียหายไปจูบแก้มรวม 3 ครั้งและพูดขอให้ผู้เสียหายยอมเป็นภริยา การกระทำของจำเลย ที่ไม่ยอมเลี้ยวรถเข้าไปส่งผู้เสียหายที่หมู่บ้านการเคหะบางพลีและขับรถเลยไปเพื่อจะกระทำอนาจารผู้เสียหายเป็นการพราก ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ดูแล โดยผู้เสียหายไม่เต็มใจไปด้วยจึงเป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม แล้ว หลังจากนั้นจำเลยได้พาผู้เสียหายไปไกลอีกถึง 10 กิโลเมตร จำเลยจึงได้กระทำอนาจารผู้เสียหายซึ่งเป็นการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 อีก การกระทำความผิด ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำต่างกรรมกับความผิด ตามมาตรา 318 วรรคสาม ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีจำคุก 1 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ปกครองผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่ บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี จำคุก 6 เดือน รวมกับโทษจำคุก 3 ปี ฐานพรากผู้เยาว์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 3 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เฉพาะเรื่องโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งที่จำเลยฎีกาว่า ท. ไม่ได้เป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เสียหายเพราะถ้าเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่ได้รับมอบหมายอำนาจปกครองจากมารดาผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายต้องพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ท.ท. จึงจะเป็นผู้ดูแลผู้เสียหายในฐานะผู้ปกครองได้ เมื่อผู้เสียหายกับ ท. ไม่ได้พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน ท. จึงมิได้เป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เสียหาย และโจทก์ไม่นำสืบให้ชัดเจนว่า ท. ผู้ปกครองผู้ดูแลผู้เสียหายอย่างไร ท. จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278, 318 วรรคสาม, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278, 318 วรรคสาม เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี จำคุก 1 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ปกครองผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีจำคุก 6 เดือน รวมกับโทษจำคุก 3 ปี ฐานพรากผู้เยาว์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 3 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า นายท. เป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจร้องทุกข์หรือไม่เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี จำคุก 1 ปี ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ปกครอง ผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี จำคุก 6 เดือน รวมกับโทษจำคุก 3 ปีฐานพรากผู้เยาว์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 3 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เฉพาะเรื่องโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่านาย ท. ไม่ได้เป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เสียหายเพราะถ้าเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่ได้รับมอบหมายอำนาจปกครองจากมารดาผู้เสียหายแล้วผู้เสียหายต้องพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับนาย ท. นาย ท.จึงจะเป็นผู้ดูแลผู้เสียหายในฐานะผู้ปกครองได้ เมื่อผู้เสียหายกับนาย ท. ไม่ได้พักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน นาย ท.จึงมิได้เป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เสียหาย และโจทก์ไม่นำสืบให้ชัดเจนว่านาย ท. เป็นผู้ปกครองดูแลผู้เสียหายอย่างไรนาย ท. จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยนั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า เมื่อจำเลยขับรถแท็กซี่พาผู้เสียหายไปถึงปากทางเข้าหมู่บ้านการเคหะบางพลี ผู้เสียหายบอกจำเลยให้ขับรถไปส่งในหมู่บ้าน แต่จำเลยกลับขับรถเลยไปโดยพูดกับผู้เสียหายว่าขอควงผู้เสียหายไปเที่ยวบางแสนเมื่อจำเลยขับรถไปถึงบริเวณหน้าวัดหอมศีล จำเลยเลี้ยวรถกลับมุ่งหน้าไปทางกรุงเทพมหานคร และไปจอดอยู่ริมทางหน้าวัดหอมศีลซึ่งอยู่เลยทางเข้าหมู่บ้านการเคหะบางพลีประมาณ 10 กิโลเมตรระหว่างนั้นจำเลยได้ดึงตัวผู้เสียหายเข้าไปจูบแก้มรวม 3 ครั้งและพูดขอให้ผู้เสียหายยอมเป็นภริยา เห็นว่า การที่จำเลยไม่ยอมเลี้ยวรถเข้าไปส่งผู้เสียหายที่หมู่บ้านการเคหะบางพลี และขับเลยไปเพื่อจะกระทำอนาจารผู้เสียหาย เป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้ดูแลโดยผู้เสียหายไม่เต็มใจไปด้วย จึงเป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม แล้ว หลังจากนั้นจำเลยได้พาผู้เสียหายไปไกลอีกถึงประมาณ 10 กิโลเมตร จำเลยจึงได้กระทำอนาจารผู้เสียหายซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 การกระทำความผิดของจำเลยตามกฎหมายมาตราดังกล่าวจึงเป็นการกระทำต่างกรรมกับความผิดตามมาตรา 318 วรรคสาม ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share