แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การบังคับตามสัญญาประกันในกรณีที่ผิดสัญญาประกันต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย แต่ผู้ประกันไม่ส่งตัวจำเลยตามนัดอันเป็นกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกัน การบังคับตามสัญญาประกันจึงเป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาทางอาญาโดยแท้ การพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ประกันจึงต้องพิจารณาจากบริบทของคดีอาญาเป็นสำคัญ โดยผู้ประกันมีหน้าที่ต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งต่อศาลตามกำหนด ตราบใดที่ผู้ประกันยังไม่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลต้องถือว่าผู้ประกันยังผิดสัญญาประกัน แต่หากผู้ประกันขวนขวายนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งศาลภายในอายุความทางอาญา ศาลก็อาจลดหรืองดค่าปรับแก่ผู้ประกันได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี แม้ผู้ประกันนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งต่อศาลเกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกันก็ตาม เมื่อผู้ประกันมีสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว ผู้ร้องจึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งปรับผู้ประกันทั้งสองได้แม้จะเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสอง โดยไม่จำต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีอีก ดังนี้ เมื่อผู้ร้องยังมีสิทธิบังคับคดีแก่ผู้ประกันทั้งสอง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะคืนหลักประกันให้แก่ผู้ประกันทั้งสองและคืนเงิน 500,000 บาท แก่ผู้ประกันที่ 1 โดยเหตุอื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 118
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ตีราคาประกัน 600,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม 2544 ผู้ประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยที่ 2 ตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองตามสัญญาประกัน และออกหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ประกันทั้งสองชำระค่าปรับภายใน 15 วัน ผู้ประกันทั้งสองทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2557 ผู้ประกันทั้งสองยื่นคำร้องว่า คำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสองถึงที่สุดวันที่ 25 สิงหาคม 2544 และวันที่ 4 ตุลาคม 2544 ตามลำดับ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิบังคับคดีผู้ประกันทั้งสองภายในกำหนด 10 ปี แต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์ของผู้ประกันทั้งสองจนพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีแล้ว ขอให้คืนหลักประกันสมุดเงินฝากแก่ผู้ประกันทั้งสอง พร้อมมีหนังสือเพิกถอนการอายัดสมุดเงินฝากดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการประจำศาลชั้นต้นรายงานข้อเท็จจริง ผู้อำนวยการประจำศาลชั้นต้นรายงานข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีผู้ประกันทั้งสองมีกำหนด 4 ปี อ้างว่า สำนวนพลัดหลงและยากต่อการติดตาม ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าคดีที่ผิดสัญญาประกันก่อนที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ใช้บังคับมีจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ผู้ประกัน โดยสำนวนคดีนี้เก็บไว้ที่ห้องเก็บสำนวนคดีแดง จนกระทั่งมีการยื่นคำร้องขอคืนหลักทรัพย์ จึงพบว่ามีการผิดสัญญาประกันทั้งผู้ประกันทั้งสองยังมิได้ชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีมีพฤติการณ์พิเศษที่ผู้ร้องอาจขอขยายเวลาได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงตามคำร้องถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอขยายก่อนสิ้นระยะเวลา จึงอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ตามขอ และมีคำสั่งคำร้องของผู้ประกันทั้งสองว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 116 บัญญัติว่า การขอถอนหลักประกันย่อมทำได้ต่อเมื่อผู้ทำสัญญามอบตัวจำเลยคืนต่อศาล คดีนี้ผู้ร้องยังไม่ได้ส่งตัวจำเลยที่ 2 ต่อศาล จึงยังไม่มีสิทธิขอถอนหลักประกัน ทั้งศาลได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีตามคำร้องขอขยายของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงยกคำร้อง ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนเงินประกันมาชำระค่าปรับตามสัญญาประกัน วันที่ 23 มิถุนายน 2557 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุง ส่งเงินในสมุดบัญชีเงินฝากของผู้ประกันที่ 1 จำนวน 500,000 บาท มาให้ตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
ผู้ประกันทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างอุทธรณ์ ผู้ประกันทั้งสองยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้คืนหลักประกันแก่ผู้ประกันทั้งสอง และคืนเงิน 500,000 บาท แก่ผู้ประกันที่ 1
ผู้ร้องฎีกา
ระหว่างฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การบังคับตามสัญญาประกันในกรณีที่ผิดสัญญาประกันต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย แต่ผู้ประกันไม่ส่งตัวจำเลยตามนัดอันเป็นกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกัน การบังคับตามสัญญาประกันจึงเป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาทางอาญาโดยแท้ การพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ประกันจึงต้องพิจารณาจากบริบทของคดีอาญาเป็นสำคัญ โดยผู้ประกันมีหน้าที่ต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งต่อศาลตามกำหนด ตราบใดที่ผู้ประกันยังไม่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลต้องถือว่าผู้ประกันยังผิดสัญญาประกัน แต่หากผู้ประกันขวนขวายนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งศาลภายในอายุความทางอาญา ศาลก็อาจลดหรืองดค่าปรับแก่ผู้ประกันได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี แม้ผู้ประกันนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาส่งต่อศาลเกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกันก็ตาม เมื่อผู้ประกันมีสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว ผู้ร้องจึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งปรับผู้ประกันทั้งสองได้แม้จะเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสอง โดยไม่จำต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาบังคับคดีอีก ดังนี้ เมื่อผู้ร้องยังมีสิทธิบังคับคดีแก่ผู้ประกันทั้งสอง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะคืนหลักประกันให้แก่ผู้ประกันทั้งสองและคืนเงิน 500,000 บาท แก่ผู้ประกันที่ 1 โดยเหตุอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 118 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยข้างต้นแล้วกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องว่ามีเหตุที่จะขยายระยะเวลาบังคับคดีให้แก่ผู้ร้องหรือไม่
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ประกันทั้งสอง