คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3762/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น โดยอ้างเหตุว่าเงินส่วนนี้โจทก์มิได้ตั้งงบประมาณไว้ และไม่มีเงินอื่นใดที่จะโอนมา ต้องยืมเงินสะสมซึ่งจะต้องดำเนินการตามระเบียบโดยขอความเห็นชอบจากสภาเทศบาล และได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนี้ ถือว่าเป็นกรณีมีพฤติการณ์พิเศษ ศาลชั้นต้นมีอำนาจขยายระยะเวลาตามคำร้องของโจทก์ได้ จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะเทศมนตรีของโจทก์ ทำให้วัดเสาธงทองได้รับความเสียหาย โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่วัดเสาธงทองแล้ว โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 มิใช่ฟ้องจำเลยให้รับผิดฐานละเมิด ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164(เดิม) หรือมาตรา 193/30(ใหม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสามดำรงตำแหน่งคณะเทศมนตรีของโจทก์ตามกฎหมาย มีจำเลยที่ 1 เป็นนายกเทศมนตรีจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นเทศมนตรี โดยดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่11 พฤษภาคม 2512 ถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2515 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม2509 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าตลาดเสาธงทองจากวัดเสาธงทองมีกำหนดเวลา 30 ปี ระหว่างที่จำเลยทั้งสามเข้าดำรงตำแหน่งคณะเทศมนตรีรับผิดชอบในการบริหารกิจการของโจทก์ได้ชำระค่าเช่าให้วัดเสาธงทองไม่ถูกต้อง เป็นการละเมิดต่อวัดเสาธงทองทำให้วัดเสาธงทองได้รับความเสียหาย ขาดรายได้ที่ควรได้รับตามสัญญาวัดเสาธงทองจึงบอกเลิกสัญญาเช่า ในเดือนพฤษภาคม 2515 แจ้งให้โจทก์ส่งมอบตลาดเสาธงทองแก่วัดเสาธงทอง และเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2515วัดเสาธงทองฟ้องเลิกสัญญาเช่าตลาดเสาธงทองเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่า โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญา กระทำละเมิดต่อวัดเสาธงทองศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ผิดสัญญาจริง ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน โจทก์ได้ส่งมอบตลาดเสาธงทองให้แก่วัดเสาธงทองในวันที่ 30 กันยายน 2521 และชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่วัดเสาธงทองในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2522 เป็นเงิน 2,273,850.43บาท การที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคณะเทศมนตรีเป็นผู้จัดการและเป็นผู้แทนของโจทก์ ได้ร่วมกันบริหารงานในตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าวเกี่ยวกับการเช่าและการให้เช่าช่วงตลาดเสาธงทองโดยวิธีการมิชอบโดยการจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนเกิดความเสียหายแก่วัดเสาธงทองและโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแก่วัดเสาธงทองจำนวนดังกล่าวแล้วข้างต้นจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นต้นเหตุทำความเสียหายจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายคืนแก่โจทก์ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามชำระเงินแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์ขอใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสาม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระเงินจำนวน 2,273,850.43 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า ไม่เคยทำความเสียหายใด ๆ แก่โจทก์ในขณะที่วัดเสาธงทองฟ้องโจทก์นั้น จำเลยทั้งสามพ้นจากตำแหน่งแล้วฟ้องโจทก์ขาดอายุความ กล่าวคือ สิทธิเรียกร้องของโจทก์เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2515 อันเป็นวันที่จำเลยทั้งสามพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีของโจทก์ โจทก์รู้แจ้งชัดถึงสิทธิและจำนวนเงินที่แน่นอนตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2515 อันเป็นวันที่วัดเสาธงทองยื่นฟ้องโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 10 ปีคดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกนายอนันต์ สงวนนามกับพวกเข้าเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องของจำเลยที่ 2 และอนุญาตให้นางอำพน สวัสดิสาร เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งสิบให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 หาอาจฟ้องจำเลยร่วมทั้งสิบเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนได้ไม่ การปฏิบัติผิดสัญญาเช่าหรือไม่นั้น มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำเลยร่วมทั้งสิบ จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจร้องสอดขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมทั้งสิบเข้ามาเป็นจำเลย จำเลยทั้งสามเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์และวัดเสาธงทอง โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2515 แล้ว แต่มิได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ถูกวัดเสาธงทองฟ้องเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2515 อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมทั้งสิบได้ แต่โจทก์มิได้ใช้สิทธิไล่เบี้ยภายในกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน127,899.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 เมษายน 2528) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมทั้งสิบ
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้องโจทก์ฉบับลงวันที่ 29 มีนาคม 2531ระบุว่า โจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้นต้นโจทก์ได้ทำอุทธรณ์ไว้เรียบร้อยแล้ว และได้ยื่นมาพร้อมคำร้องในวันนั้น แต่เงินค่าธรรมเนียมศาลคือค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์นั้นทนายโจทก์ได้รับแจ้งจากโจทก์ว่า เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนี้ไว้และไม่มีเงินอื่นใดที่จะโอนมาได้ จำเป็นต้องยืมเงินสะสมซึ่งจะต้องดำเนินการตามระเบียบ คือ ขอความเห็นชอบจากสภาเทศบาล และได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด โจทก์จะต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดส่งเงินค่าธรรมเนียมศาลได้ภายในวันที่ 25 เมษายน 2531 ดังนี้ โจทก์ซึ่งเป็นเทศบาลเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จึงจำต้องปฏิบัติราชการไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถือได้ว่าเป็นกรณีมีพฤติการณ์พิเศษและโจทก์ได้ขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาตามคำร้องของโจทก์ได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แล้ว
ปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะเทศมนตรีของโจทก์ ทำให้วัดเสาธงทองได้รับความเสียหาย และวัดเสาธงทองได้ฟ้องบังคับให้โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายดังกล่าว ซึ่งโจทก์ได้ชำระไปแล้วจำนวน 2,273,850.43 บาท และโจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสาม อันเป็นกรณีโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยทั้งสามผู้ก่อความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคแรก มิใช่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดฐานละเมิด เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความการฟ้องคดีเพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76ไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 (เดิม) มาตรา 193/30 (ใหม่) ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชำระเงินให้แก่วัดเสาธงทองไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2522 โจทก์จึงเริ่มมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยทั้งสามนับแต่วันชำระเงินดังกล่าว โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2528 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ปัญหาว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริตเป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่วัดเสาธงทอง โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสามได้
พิพากษายืน

Share