แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาซื้อลูกสูบจากโจทก์ แม้ปรากฏว่าลูกสูบชุดแรกที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยเป็นลูกสูบที่ไม่ถูกต้องตามสัญญา แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์รู้ดีอยู่แล้วว่าลูกสูบดังกล่าวเป็นลูกสูบที่ไม่ถูกต้อง ยังขืนนำมาส่งมอบให้แก่จำเลย ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า จำเลยมีความสงสัยว่าลูกสูบนั้นไม่ถูกต้องตามสัญญาจึงได้บันทึกในใบส่งของว่า รับลูกสูบไว้เพื่อตรวจสอบ จำเลยจึงมีหน้าที่ตรวจสอบแล้วแจ้งให้โจทก์ทราบว่าถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ เพื่อโจทก์จะได้จัดการหามาเปลี่ยนหรือแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อสัญญา จำเลยก็ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบดังกล่าว ต่อมาจำเลยกลับมีหนังสือถึงโจทก์ว่า บัดนี้ได้เกินกำหนดอายุสัญญาแล้ว โจทก์ไม่ส่งของให้จำเลยอันเป็นการผิดสัญญา โจทก์ได้ยืนยันว่าส่งลูกสูบให้จำเลยแล้ว แทนที่จำเลยจะมีหนังสือชี้แจงต่อโจทก์ว่าสินค้าของโจทก์ที่ส่งไปชุดแรกไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยกลับมีหนังสือเตือนให้โจทก์ส่งของตามสัญญาและให้นำค่าปรับมาชำระ โจทก์จึงยืนยันกลับไปยังจำเลยว่าส่งสินค้าให้จำเลยถูกต้องตามสัญญาแล้ว ต่อมาเพื่อตัดความรำคาญ โจทก์จึงส่งสินค้าลูกสูบอีกชุดหนึ่งให้จำเลย จำเลยรับว่าลูกสูบชุดหลังถูกต้องตามสัญญา ดังนี้ การที่โจทก์ส่งลูกสูบที่ถูกต้องให้จำเลยล่าช้าเกิดจากความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยซึ่งไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2521 ข้อ 48ประกอบระเบียบกรมชลประทานว่าด้วยการบริหารงานด้านพัสดุ พ.ศ.2522 ข้อ 91 โจทก์จึงไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิปรับโจทก์ และเมื่อจำเลยได้รับลูกสูบชุดหลังไว้ถูกต้องตามสัญญาจำเลยจะต้องชำระราคาสินค้าดังกล่าวให้โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันผิดนัด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาซื้ออะไหล่เครื่องยนต์ วี.เอ็ม. ๒ รายการ คือลูกสูบยี่ห้อดูราลัว และหัวฉีดยี่ห้อโบสิโอ ผลิตจากประเทศอิตาลีจากโจทก์ โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้จำเลยครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ต่อมาคณะกรรมการตรวจรับพัสดุที่จำเลยแต่งตั้งขึ้นมีมติให้รับสิ่งของที่โจทก์ส่งมอบ แต่เมื่อโจทก์ไปขอรับเงิน จำเลยได้สั่งระงับการจ่ายเงินโดยมิชอบ ทำให้โจทก์เสียหายแต่ต่อมาจำเลยยอมชำระเงินบางส่วนแก่โจทก์ คงค้างชำระอีก ๘๖,๔๐๐ บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย จำเลยต้องชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันที่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุมีมติให้รับสิ่งของที่โจทก์ส่งมอบ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน ๙๕,๐๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอะไหล่ วี.เอ็ม.รวม ๒ รายการ ตามฟ้องจริง แต่ปรากฏว่าเมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่าอะไหล่ที่ส่งมอบใม่ใช่อะไหล่แท้จากบริษัทดูราลัว ประเทศอิตาลี จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งลูกสูบที่ถูกต้องตามสัญญาให้แก่จำเลยและจะปรับโจทก์เป็นรายวัน โจทก์เกรงว่าจะต้องรับผิดเนื่องจากปฏิบัติผิดสัญญา จึงนำลูกสูบที่ถูกต้องตามสัญญาจำนวน ๙๐ ชุด มาส่งมอบให้จำเลย การที่โจทก์ส่งมอบลูกสูบที่ถูกต้องตามสัญญาเมื่อพ้นกำหนดตามสัญญา อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ทำให้จำเลยเสียหาย คิดเป็นเงินค่าปรับ ๕๒,๐๑๒.๘๐ บาทจำเลยได้แจ้งให้โจทก์หักกลบลบหนี้กับเงินค่าลูกสูบจำนวน ๘๖,๔๐๐ บาท ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์แต่โจทก์เพิกเฉยไม่ไปติดต่อและรับเงินส่วนที่เหลือจากการหักกลบลบหนี้ จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าลูกสูบแก่โจทก์ และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามฟ้อง และการที่โจทก์ไม่ไปติดต่อกับจำเลยเพื่อดำเนินการหักกลบลบหนี้เงินค่าปรับที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลยจำนวน ๕๒,๐๑๒.๘๐ บาท ทำให้จำเลยไม่สามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะโจทก์ยังโต้แย้งว่าโจทก์ไม่ควรเสียค่าปรับดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับมอบเงินค่าปรับจากโจทก์ จำเลยคิดค่าเสียหายเป็นเงินค่าดอกเบี้ย ๒,๘๗๑.๕๔ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔,๘๘๔.๓๔ บาท กับดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย๕๔,๘๘๔.๓๔ บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ของที่โจทก์ส่งมอบใช้ได้หรือไม่ และโจทก์จะได้รับเงินเมื่อใดเป็นการกลั่นแกล้งหรือประวิงให้เกิดความเสียหายโจทก์จึงส่งลูกสูบชุดใหม่ไปให้จำเลยอีก ๙๐ ชุด เพื่อจะได้พิจารณาจนเป็นที่พอใจ มิใช่เกรงว่าจะต้องรับผิดเนื่องจากการปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจะยกเป็นเหตุว่าโจทก์ส่งของล่าช้าและเรียกค่าปรับจากโจทก์หาได้ไม่ จำเลยไม่มีสิทธิรับเงินค่าปรับและดอกเบี้ยจากเงินค่าปรับจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
จำเลยขอให้เรียกนายอุดมหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โจทก์ร่วมขอถือเอาคำฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์เป็นคำคู่ความของโจทก์ร่วมด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน ๘๖,๔๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์และโจทก์ร่วมใช้ค่าปรับแก่จำเลยจำนวน ๕๒,๐๑๒.๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์และโจทก์ร่วมจำนวน ๘๖,๔๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยที่โจทก์มิได้ฎีกาว่า ลูกสูบชุดแรกจำนวน ๙๐ ชุด ที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยครั้งแรกเมื่อวันที่๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ไม่ถูกต้องตามสัญญา คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยว่าโจทก์ โจทก์ร่วมหรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าลูกสูบจำนวน ๙๐ ชุดที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ จะเป็นลูกสูบที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาก็ตามจำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์รู้ดีอยู่แล้วว่าลูกสูบดังกล่าวเป็นลูกสูบที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาแล้วโจทก์ยังขืนนำมาส่งมอบให้แก่จำเลย ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า จำเลยมีความสงสัยว่าลูกสูบดังกล่าวเป็นลูกสูบที่ไม่ถูกต้องตามสัญา จึงได้ทำบันทึกไว้ในใบส่งของว่า ผู้ซื้อได้รับลูกสูบไว้เพื่อตรวจสอบเท่านั้นมิใช่รับไว้เพราะลูกสูบทั้ง ๙๐ ชุดถูกต้องตามสัญญาแล้ว นอกจากนี้จำเลยยังได้ขอให้โจทก์ทำหนังสือรับรองว่าลูกสูบทั้งหมดถูกต้องตามสัญญาด้วย ดังนั้นจำเลยจึงมีหน้าที่ตรวจสอบแล้วแจ้งให้โจทก์ทราบว่าลูกสูบที่โจทก์ส่งมอบ และจำเลยรับไว้ตรวจสอบดังกล่าวถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ เพื่อโจทก์จะได้จัดการหามาเปลี่ยนหรือแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อสัญญา แต่หลังจากโจทก์ได้ส่งมอบลูกสูบให้จำเลยและทำหนังสือรับรองให้แล้วตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๖ จำเลยก็ไม่ได้แจ้งผลการตรวจสอบให้โจทก์ทราบว่า ลูกสูบที่โจทก์ส่งมอบถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ เพราะเหตุใด จนกระทั่งวันที่ ๒๒สิงหาคม ๒๕๒๖ จำเลยได้มีหนังสือถึงโจทก์ ความว่าบัดนี้ได้เกินกำหนดอายุสัญญาแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ส่งของให้จำเลยอันเป็นการผิดสัญญา โดยจำเลยไม่ได้บอกว่าลูกสูบที่จำเลยรับไว้ตรวจสอบนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร โจทก์ก็ยังคงยืนยันว่าโจทก์ส่งลูกสูบให้จำเลยแล้ว และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ตรวจรับไว้แล้ว หลังจากได้รับหนังสือตอบของโจทก์ดังกล่าว เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๖ แล้วแทนที่จำเลยจะมีหนังสือชี้แจงต่อโจทก์ว่า สินค้าของโจทก์ไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยกลับมีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๒๖ เตือนให้โจทก์ส่งของตามสัญญา และให้นำค่าปรับมาชำระให้จำเลยอีก ซึ่งโจทก์ก็ได้ทำหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๖ ตอบยืนยันต่อจำเลยว่าโจทก์ได้ส่งสินค้าให้จำเลยถูกต้องตามสัญญาแล้ว แสดงว่าโจทก์ก็ยังไม่ทราบอยู่ดีว่าลูกสูบที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยไม่ถูกต้องตามสัญญาอย่างไรจนกระทั่งถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๒๗ โจทก์จึงได้จัดส่งลูกสูบชุดใหม่ให้จำเลยอีก ๙๐ ชุด ซึ่งโจทก์ให้เหตุผลว่า เพื่อตัดความรำคาญ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ และจำเลยก็ได้ยอมรับลูกสูบชุดใหม่นี้ว่าถูกต้องตามสัญญา การที่โจทก์ส่งมอบลูกสูบที่ถูกต้องตามสัญญาล่าช้าเกินกำหนดอายุสัญญาไปดังกล่าวเกิดจากความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของจำเลยเอง ทั้งนี้เพราะ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ.๒๕๒๑ ข้อ ๔๘ บัญญัติไว้ว่า การตรวจรับพัสดุให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุที่ซื้อทำการตรวจรับให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วที่สุด หากผู้ขายส่งพัสดุไม่ถูกต้องตามสัญญา ให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุรีบรายงานผู้ซื้อเพื่อแจ้งให้ผู้ขายทราบภายใน ๓ วันทำการ นับแต่วันที่ตรวจพบนอกจากนี้ระเบียบกรมชลประทานว่าด้วยการบริหารงานด้านพัสดุ พ.ศ.๒๕๒๒ ข้อ ๙๑ ยังได้บัญญัติไว้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.๒๕๒๑ ดังกล่าว อีกด้วยว่า”…การตรวจรับพัสดุและงานจ้างจะต้องดำเนินไปต่อหน้าผู้แทนผู้ขาย หรือผู้รับจ้างทุกคราวไป…หากการตรวจรับจะต้องดำเนินไปล่าช้าเกินเวลาอันสมควร ให้รายงานผลการตรวจรับให้ผู้ซื้อทราบโดยเร็ว โดยชี้แจงเหตุผลไว้ด้วย…” แต่จำเลยหาได้ปฏิบัติตามระเบียบทั้ง ๒ ระเบียบนั้นไม่ ดังนั้นจะถือว่าโจทก์ส่งมอบลูกสูบให้จำเลยล่าช้าเกินกำหนดอายุสัญญา และโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหาได้ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิปรับโจทก์ตามสัญญา ข้อ ๙ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
สำหรับฎีกาข้อที่ ๒ ของจำเลยที่ฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดอันจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์โจทก์จึงควรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากจำนวนเงินค่าสินค้าจำนวน ๘๖,๔๐๐ บาท นับแต่วันฟ้อง(วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๗) เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าโจทก์มิใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า จำเลยได้รับมอบลูกสูบจำนวน ๙๐ ชุดไว้ถูกต้องตามสัญญาแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๒๗ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องชำระราคาค่าลูกสูบให้แก่โจทก์ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกเหตุผลขึ้นวินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วว่า โจทก์จะต้องได้รับเงินจากจำเลยภายในเวลาไม่เกิน ๒ สัปดาห์ คือในวันที่๕ เมษายน ๒๕๒๗ นั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว
พิพากษายืน.