คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4607/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ได้ขออนุญาตจำเลยที่ 1 ซ่อมแซมกุฏิที่จำเลยที่ 2 ปกครองอยู่จำเลยที่ 1 ตั้งกรรมการให้ไปช่วยดูแล เมื่อไม่มีเงินเพียงพอจะชำระค่าวัสดุก่อสร้างจำเลยที่ 1ก็แจ้งให้เจ้าอาวาสและไวยาวัจกรทราบ จำเลยที่ 1เพิ่งออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ระงับการก่อสร้าง โดยระบุว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำการก่อสร้างมาเป็นเวลานานและทำผิดไปจาก รูปแบบเดิมจนก่อให้เกิดปัญหาในปัจจุบัน พฤติการณ์ดังกล่าว เช่นนี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2ทำการซ่อมแซมก่อสร้างได้โดยจำเลยที่ 1 ติดตามผลการก่อสร้างตลอดมา ทั้งกุฏิเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในการซื้อสินค้าจำเลยที่ 2 ก็ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปบางส่วนแล้ว จึงเป็นมูลเหตุที่เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 2 มีอำนาจสั่งซื้อสินค้าตามฟ้องแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น กิจการที่จำเลยที่ 2กระทำไปย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 206,555 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นเงิน187,715 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทวัดวาอารามโดยมีพระพิมลธรรมเจ้าอาวาสเป็นผู้ทำการแทน จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะ 12ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2525 จำเลยที่ 2ทำหนังสือถึงพระพิมลธรรมในฐานะเจ้าอาวาสว่า จำเลยที่ 2ขออนุญาตปฏิสังขรณ์กุฏิคณะ 12 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน 2525 พระพิมลธรรมในฐานะเจ้าอาวาสจำเลยที่ 1 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการช่วยดูแลในการปฏิสังขรณ์กุฏิคณะ 12 โดยมีพระเทพสิทธิมุนีเป็นประธานกรรมการตามเอกสารหมาย จ.3 ระหว่างเดือนมิถุนายน 2526 ถึงเดือนกันยายน 2526จำเลยที่ 2 สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากโจทก์ รวม 9 ครั้งเป็นเงิน 203,515 บาท เพื่อนำมาปฏิสังขรณ์กุฏิคณะ 12โจทก์ส่งมอบวัสดุก่อสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2ชำระเงินให้แก่โจทก์เพียง 15,800 บาท คงค้างอยู่เป็นเงิน187,715 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ที่ค้างแต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระ โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่าได้กระทำแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยที่ 1อ้างว่าไม่ได้แต่งตั้งหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแทน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำของจำเลยที่ 2 คดีมาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 ค้างชำระแก่โจทก์อยู่ 187,715 บาทในฐานะตัวการซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการที่มอบหมายให้จำเลยที่ 2 สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากโจทก์หรือไม่ โจทก์มีเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยที่ 2มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2525 เรื่องขออนุญาตยกกุฏิแถวหน้าสูงเสมอกับคณะ 10-11 มีรายละเอียดว่าซ่อมทุกส่วนของกุฏิที่ชำรุดทรุดโทรม ผุพัง ฯลฯ ให้เป็นไปตามแบบที่แนบมานี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้สั่งไว้ในเอกสารฉบับเดียวกันว่าการปฏิสังขรณ์กุฏิคนละ 12 นั้น จะตั้งคณะกรรมการวัดมหาธาตุฯให้ไปช่วยดูแลและสั่งการต่อไป ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการต่อไป เมื่อมีปัญหาจึงค่อยนำเสนอ ลงชื่อพระพิมลธรรมลงวันที่ 13 มิถุนายน 2525 และในวันที่ 13 มิถุนายน 2525 นั้นเอง พระพิมลธรรมในฐานะอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ได้ตั้งคณะกรรมการช่วยตรวจดูและสั่งการในการปฏิสังขรณ์กุฏิคณะ 12 เพื่อให้งานดำเนินไปตามเป้าหมายด้วยดี มีพระเทพสิทธิมุนีเป็นประธานกรรมการและมีพระสุวิมลธรรมาจาร พระครูสรภาณพิสุทธิ์พระครูปลัดสุวัฒนสีลคุณ พระครูปลัดวัฒนสิริคุณ เป็นกรรมการปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.3 ต่อมา จำเลยที่ 2ได้สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากโจทก์ แล้วไม่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้คณะกรรมการผู้มีชื่อดังกล่าวจึงมีหนังสือถึงเจ้าอาวาสตามเอกสารหมาย จ.2/8 ว่า คณะ 12 ไม่เคยซ่อมแซมมาก่อนเลยเมื่อซ่อมแซมจริงฯ แล้ว ปรากฏว่าชำรุดผุพังมาก ต้องซ่อมแซมมากและต้องใช้เงินมาก จึงขอความช่วยเหลือจากเจ้าอาวาสและต่อมาประธานคณะกรรมการชุดนี้ได้มีหนังสือถึงนายเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ไวยาวัจกรของวัดให้ช่วยเหลือ โดยอ้างว่ากุฏิก็เป็นของสงฆ์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2/9 จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์ระบุมานี้เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จึงฟังได้ตามเอกสารว่า จำเลยที่ 2 ได้ขออนุญาตจำเลยที่ 1 ซ่อมแซมกุฏิในคณะ 12 ที่จำเลยที่ 2 ปกครองอยู่แทนที่จำเลยที่ 1 จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติหรือให้รอไว้ก่อนจำเลยที่ 1 กลับตั้งคณะกรรมการให้ไปช่วยดูแล กรรมการทำหน้าที่ดูแลโดยตลอด เมื่อไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าวัสดุก่อสร้างก็แจ้งให้เจ้าอาวาสและไวยาวัจกรทราบ จำเลยที่ 1 เพิ่งออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 ระงับการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2527โดยระบุว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำการก่อสร้างกุฏิคณะ 12 มาเป็นเวลานานและได้ทำให้ผิดไปจากรูปแบบเดิมจนก่อให้เกิดปัญหาในปัจจุบันจึงให้ระงับการก่อสร้างพฤติการณ์ดังกล่าวเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ทำการซ่อมแซมก่อสร้างได้ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1ได้สอดส่องติดตามผลการก่อสร้างตลอดมา ทั้งกุฏิคณะ 12 ก็เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในการซื้อสินค้า จำเลยที่ 2 ก็ได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปบางส่วนแล้ว จึงเป็นมูลเหตุที่ทำให้โจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 2 มีอำนาจสั่งซื้อสินค้าตามฟ้องแทนจำเลยที่ 1 ได้ดังนั้น กิจการที่จำเลยที่ 2 กระทำไปย่อมผูกพันจำเลยที่ 1ในฐานะตัวการที่ต้องรับผิดชอบ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าวัดจำเลยที่ 1 ทางราชการได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานการซ่อมแซมต้องแจ้งกรมศิลปากรและกระทรวงศึกษาธิการนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติเอง จะอ้างเป็นเหตุปฏิเสธความผูกพันและความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้ขายวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างแก่จำเลยที่ 1 หาได้ไม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 187,715 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share