คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 376/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จะพิจารณาและสั่งอนุญาตเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าพาหนะเดินทางของข้าราชการ เมื่อจำเลยทำใบสำคัญเท็จมาแสดง เพื่อขอเบิกเงินตามใบสำคัญนั้น ก็อาจทำให้ข้าหลวงประจำจังหวัด หรือรัฐบาลเสียหายได้ จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 118,

ย่อยาว

โจทย์ฟ้องหาเบิกค่าพาหนะเดินทางย้ายครอบครัว ยื่นรายงานการเดินทางพร้อมด้วยใบสำคัญคู่จ่ายเท็จ ต่อข้าหลวงประจำจังหวัด ฯลฯ ขอให้ลงโทษ
จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยได้จ่ายเงินไปจริง ไม่มีการเสียหาย จึงยังไม่ผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๑๘ ให้จำคุก ๖ เดือน ลด ๑ ใน ๓ จำคุก ๔ เดือน ให้รอการลงอาญาไว้
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ปัญหาที่จำเลยฎีกาคัดค้านว่า ข้าหลวงประจำจังหวัดไม่ใช่เจ้าพนักงาน ในกรณีเช่นนี้ เพราะไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการคลังหรือการเงินนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.๒๔๙๑ มาตรา ๑๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๔๙๕ ได้บัญญัติไว่ว่า ” การสั่งจ่ายเงินจากคลังจังหวัด หรือผู้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย และให้ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ” และตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตราค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางก็มีระเบียบของคลังว่า การเบิกจ่ายเช่นนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาและสั่งอนุญาต ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า ข้าหลวงประจำจังหวัด เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จะพิจารณาและสั่งอนุญาตเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าพาหนะเดินทางของข้าราชการ เมื่อจำเลยทำใบสำคัญเท็จ มาแสดงเพื่อขอเบิกเงินตามใบสำคัญนั้น ก็อาจทำให้ข้าหลวงประจำจังหวัด หรือ รัฐบาลเสียหายได้ จำเลยจึงต้องมีความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๑๘ ฯลฯ จึงพิพากษายืน

Share