คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1367/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2494 เวลากลางวัน (6.00น.)จำเลยปล้นทรัพย์แม้ทางพิจารณาได้ความว่าเวลาเกิดเหตุเป็นเวลาขมุกขมัวมีแสงสว่างบ้างแล้วซึ่งจะถือว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ใกล้เคียงกันมาก จะฟ้องฟังว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าเหตุเกิดเวลากลางคืนต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้องซึ่งบรรยายว่าเหตุเกิดเวลากลางวันจึงให้ยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา192 ยังไม่ได้และเมื่อฟ้องของโจทก์จำเลยก็เข้าใจข้อหาได้ดีโดยไม่หลงข้อต่อสู้จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2494 เวลากลางวัน (06.00 น.) จำเลยสมคบกันกับพวกอีกคนหนึ่งที่ยังจับตัวไม่ได้ทำการปล้นทรัพย์สิ่งของต่าง ๆ ของนางบ่ง ฯลฯ ไปหลายอย่างรวมราคา 186 บาท 30 สตางค์ ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 301 พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 4) มาตรา 7

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลจังหวัดสกลนครเชื่อว่าขณะเกิดเหตุตะวันยังไม่ขึ้นตามที่โจทก์นำสืบและยังเป็นเวลากลางคืนตามกฎหมายอยู่แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเวลากลางวัน คนละเวลากันข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวบรรยายในฟ้องลงโทษจำเลยไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ผู้พิพากษานายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่าจะถือว่าข้อเท็จจริงผิดกับคำฟ้องในเรื่องเวลาเสียทีเดียวหาได้ไม่เพราะน่าเชื่อว่าเกิดเหตุในเวลาราว 6 นาฬิกา ตามคำฟ้องและจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ควรยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงในเรื่องการกระทำผิดด้วยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ

โจทก์ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุสว่างแล้วและมีสีแดงบนท้างฟ้าถือได้ว่าพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว จึงเป็นเวลากลางวัน ขอให้ลงโทษ

ศาลฎีกาเห็นว่า เวลาเกิดเหตุเป็นเวลาขมุกขมัวมีแสงสว่างบ้างแล้วซึ่งจะถือว่าเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ใกล้เคียงกันมากและโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งแล้วว่าเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2494 เวลา (06.00 น.) สำหรับคดีนี้จำเลยก็เข้าใจข้อหาได้ดีโดยไม่หลงข้อต่อสู้และไม่ต่างกับฟ้อง

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงในเรื่องการกระทำผิดของจำเลยแล้วพิพากษาเสียใหม่

Share