แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คืนเกิดเหตุมีการจัดงานในโรงเรียน การที่จำเลยซึ่งเป็นครูประจำชั้นจูงมือผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปต่อหน้าบิดาผู้เสียหายและคนอื่นเป็นการใช้อำนาจของครูต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นศิษย์ แม้จะกระทำต่อหน้าศิษย์นอกเวลาเรียนก็ถือว่าศิษย์นั้นอยู่ในความดูแล แล้วจำเลยกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสองและ มาตรา 279 วรรคสองประกอบมาตรา 285 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 277 วรรคสองประกอบมาตรา 285 อันเป็นบทที่โทษหนักที่สุดตามมาตรา 90
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 50, 91, 277, 279, 285, 317 และใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยกับจำเลยโดยห้ามจำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพครูมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษหรือวันปล่อยตัว
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสิน เชื้อหงษ์ มารดาเด็กหญิงศศิธร เชื้อหงษ์ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสองและมาตรา 279 วรรคสองประกอบมาตรา 285 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 อันเป็นบทที่โทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 12 ปี ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร มาตรา 317วรรคสามจำคุก 5 ปี รวมจำคุก 17 ปี ส่วนที่โจทก์ขอห้ามจำเลยประกอบอาชีพครูหรือวิชาชีพครูมีกำหนด 5 ปี นับแต่พ้นโทษหรือวันปล่อยตัวนั้น คำขอส่วนนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความ คำให้การในชั้นสอบสวนของพยานตามบันทึกคำให้การของพยานเอกสารหมาย จ.7, จ.8, จ.10, จ.11 และ จ.13 ถึง จ.15 โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีร้อยตำรวจโทกามนิต และแพทย์หญิงเพ็ชรรัตน์ เป็นพยานเบิกความได้ความว่า ร้อยตำรวจโทกามนิตเป็นผู้สอบปากคำผู้เสียหายและเพื่อนนักเรียนของผู้เสียหายและถ่ายภาพสถานที่เกิดเหตุกับทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุและแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 และ จ.3 แพทย์หญิงเพ็ชรรัตน์เป็นผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหายตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย ป.จ.2 เห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความถึงการกระทำของจำเลยไว้โดยละเอียดเด็กหญิงสุภลักษณ์ เด็กหญิงดรรชนี เด็กหญิงยุพิน เด็กหญิงรำไพ เด็กหญิงจำเรียงและเด็กหญิงสังวาลย์ มาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของผู้เสียหาย พยานดังกล่าวต่างเป็นศิษย์ของจำเลยโดยเฉพาะผู้เสียหายเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในความดูแลของจำเลยซึ่งเป็นครูประจำชั้นย่อมเคารพยำเกรงจำเลย ประกอบกับขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 10 ปีเศษ อยู่ในวัยที่รับรู้และเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในการดำเนินคดีแก่จำเลยก็ไม่ปรากฏว่าฝ่ายผู้เสียหายได้เรียกร้องเอาเงินหรือทรัพย์สินจากจำเลยแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้เสียหายจะคิดปรุงแต่งเรื่องขึ้นกล่าวหาจำเลยในข้อหาร้ายแรงเช่นนั้น ซึ่งมีแต่ความเสื่อมเสียและอับอายทั้งยังต้องเสียเวลาในการดำเนินคดีอีกด้วย เชื่อว่าผู้เสียหายให้การและเบิกความไปตามความจริง เหตุที่ผู้เสียหายไม่ร้องขอความช่วยเหลือในระหว่างที่จำเลยจูงมือไป คงเป็นเพราะผู้เสียหายไม่คิดว่าจำเลยจะกล้ากระทำมิดีมิร้าย ส่วนเหตุการณ์ภายในห้องที่เกิดเหตุนั้นผู้เสียหายตกอยู่ในสภาพบังคับจึงไม่อาจขัดขืนได้ และแม้จะได้ความว่าห้องที่เกิดเหตุไม่ได้เปิดไฟ ทั้งพยานโจทก์และโจทก์ร่วมบางปากเบิกความว่า เห็นคนในมุ้งเป็นเงา แต่จากรูปร่างลักษณะที่เห็นบอกได้ว่าคือจำเลยกับผู้เสียหาย ก็ไม่ทำให้คำพยานโจทก์และโจทก์ร่วมขาดน้ำหนักในการรับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี โดยใช้กำลังประทุษร้ายและผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้และกระทำชำเราผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 13 ปี ซึ่งเป็นศิษย์ในความดูแลของจำเลย และฎีกาข้อที่ว่าขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนจำเลยจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลผู้เสียหายนั้น เห็นว่า คืนเกิดเหตุ มีการจัดงานในโรงเรียน การที่จำเลยซึ่งเป็นครูประจำชั้น จูงมือผู้เสียหายไปต่อหน้าบิดาผู้เสียหายและคนอื่น เป็นการใช้อำนาจของครูต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นศิษย์แล้ว ดังนี้แม้จะกระทำต่อศิษย์นอกเวลาเรียนก็ถือว่าศิษย์นั้นอยู่ในความดูแล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน