คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3755/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยที่ 3 ในฐานะเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีอากรและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์แล้ว โจทก์มิได้เสียภาษีอากรภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน ภาษีอากรที่ประเมินนั้นย่อมเป็นภาษีอากรค้าง ซึ่งจำเลยที่ 8 ในฐานะนายอำเภอมีอำนาจที่จะสั่งยึดทรัพย์สินของโจทก์ได้โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง ถึงแม้โจทก์จะไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีอากรของจำเลยที่ 3 และได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรต่ออธิบดีกรมสรรพากร แต่การประเมินภาษีอากรของจำเลยที่ 3ก็มีผลบังคับตามกฎหมาย หาใช่ว่าเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินแล้วจะต้องรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรก่อนจึงจะถือว่าเป็นภาษีอากรค้างไม่ โจทก์มิได้เสียภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และยังมิได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ทุเลาการเสียภาษี จำเลยที่ 8 ในฐานะนายอำเภอย่อมมีอำนาจที่จะสั่งยึดทรัพย์สินของโจทก์ เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างได้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าเมื่อมีการอุทธรณ์การประเมินและขอทุเลาการเสียภาษีต่ออธิบดีกรมสรรพากร แม้จะล่วงพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีอากรแล้ว ก็ให้นายอำเภองดการใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 เพื่อรอฟังคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรก่อน การที่จะงดหรือไม่งดจึงอยู่ในดุลพินิจของนายอำเภอเพียงแต่นายอำเภอจะต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจมิให้ขัดกับคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งจะมีมาในภายหลัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2522 จำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 3ได้แจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่ายต่อโจทก์เป็นเงิน 4,652,549.08 บาท อ้างว่าระหว่างปี พ.ศ. 2515ถึง 2519 โจทก์มีรายรับจากการรับจ้างทำของทั่วไป ขายสินค้าลงบัญชีต่ำกว่าหลักฐานมีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี และแสดงกำไรสุทธิที่ไม่ตรงต่อความจริง มีรายจ่ายซึ่งยังไม่ได้ลงจ่ายและแสดงรายการขายสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งไม่เป็นความจริง ในการทำไม้ ขายไม้ โจทก์ทำตามขั้นตอนของกฎหมายตามระเบียบข้อบังคับมีผู้ตรวจบัญชีที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารบัญชี นอกจากนั้นบริษัทโจทก์ยังมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ทำการคำนวณและประเมินภาษีผิดไปจากความจริง จำเลยไม่เคยแสดงให้ทราบว่าการคำนวณภาษีอาศัยหลักฐานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างไร โจทก์จึงถือว่าโจทก์ไม่มีภาษีอากรค้าง โจทก์อุทธรณ์การประเมินภาษีต่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และแจ้งเรื่องการอุทธรณ์กับแจ้งการทุเลาต่อจำเลยที่ 1 ด้วย แต่จนบัดนี้ก็ยังมิได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไว้แล้ว ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2524 จำเลยที่ 8 ได้ทำการประกาศยึดทรัพย์โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 8 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ไม่มีภาษีอากรค้าง การประกาศยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 8 มีสายงานมาจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งไม่มีกฎหมายให้อำนาจเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ต่อมาจำเลยที่ 4 ที่ 5 มีหนังสือถึงโจทก์ว่าไม่มีเหตุอันควรผ่อนผันและไม่อนุมัติให้โจทก์ทุเลาการชำระภาษีอากร การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงต้องเสียเงินในลักษณะสินเชื่อซึ่งโจทก์ต้องหาเงินจากบุคคลที่สามเพื่อดำเนินกิจการของโจทก์ ทำให้กิจการของโจทก์ต้องหยุดชะงักเพราะหาเงินไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้ขาดความไว้วางใจ ขอคิดค่าเสียหาย 23,584,007.14 บาท กับค่าเสียหายที่ต้องเสียชื่อเสียงอีก 10,000,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาบังคับ

จำเลยทั้งแปดให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้เสียภาษีอากรค้างตามที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บ สิทธิของโจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้ง จำเลยที่ 8 มีอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 ที่จะยึดทรัพย์โจทก์ได้ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่ใช่นิติบุคคลและไม่อาจเป็นคู่ความได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 3 ได้ประเมินภาษีถูกต้องตามกฎหมายทุกประการไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือกลั่นแกล้งโจทก์ จำเลยที่ 8 ยึดทรัพย์โจทก์เพราะโจทก์ละเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระภาษีตามที่จำเลยที่ 3 ประเมินเรียกเก็บภายใน 30 วันภาษีอากรนี้จึงเป็นภาษีอากรค้างซึ่งจำเลยที่ 8 มีอำนาจประกาศยึดทรัพย์โจทก์ได้ โจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงประวิงเวลาในการชำระภาษีให้ถูกต้อง เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องคำขอทุเลาของโจทก์ก็ต้องถือว่ายังไม่มีการทุเลา ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2524 อธิบดีกรมสรรพากรมีหนังสือยืนยันมาว่าไม่ผ่อนผันให้โจทก์ทุเลาการชำระภาษีจำเลยที่ 8 ประกาศยึดทรัพย์ของโจทก์เพื่อป้องกันมิให้โจทก์จำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินหรือสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ให้ลดน้อยลง โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายค่าเสียหายบางอย่างโจทก์เป็นผู้ก่อขึ้นเอง ค่าเสียหายที่ต้องเสียชื่อเสียง เสียความเชื่อถือเสียความนิยมหรือค่านิยมไม่สามารถคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงไม่ใช่ความเสียหายขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดชี้สองสถานและพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 บัญญัติว่า “ภาษีอากรซึ่งต้องเสียตามลักษณะนี้ ถ้าเมื่อถึงกำหนดชำระแล้วมิได้เสีย ให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง

เพื่อให้ได้รับชำระค่าภาษีอากรค้าง ให้เป็นอำนาจของข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายอำเภอโดยเฉพาะที่จะสั่งยึด และสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง แต่สำหรับนายอำเภอนั้นจะใช้อำนาจสั่งขายทอดตลาดได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากข้าหลวงประจำจังหวัด ฯลฯ”

และมาตรา 27 บัญญัติว่า “เงินภาษีอากรที่บุคคลใดจะต้องเสียหรือนำส่งตามบทบัญญัติในหมวดต่าง ๆ แต่ลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมินต้องเสียหรือนำส่งภายในเวลาตามแต่จะมีบทบัญญัติในหมวดนั้น ๆ กำหนดไว้ ส่วนเงินภาษีอากรที่อำเภอหรือเจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้เสีย ก็ต้องเสียภายในเวลาสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งจำนวนเงินภาษีอากร ฯลฯ”

ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ในฐานะเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีอากรและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์แล้วโจทก์มิได้เสียภาษีอากรภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน ภาษีอากรที่ประเมินนั้นย่อมเป็นภาษีอากรค้างซึ่งจำเลยที่ 8 ในฐานะนายอำเภอมีอำนาจที่จะสั่งยึดทรัพย์สินของโจทก์ได้โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง ถึงแม้โจทก์จะไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีอากรของจำเลยที่ 3 และได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอทุเลาการเสียภาษีอากรต่ออธิบดีกรมสรรพากร แต่การประเมินภาษีอากรของจำเลยที่ 3 ก็มีผลบังคับตามกฎหมายหาใช่ว่าเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินแล้วจะต้องรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรก่อนจึงจะถือว่าเป็นภาษีอากรค้างไม่นอกจากนี้ ประมวลรัษฎากรมาตรา 31 ยังบัญญัติว่า “การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากรถ้าไม่เสียภาษีอากรในเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ถือเป็นภาษีอากรค้างตามมาตรา 12 เว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้ก็ให้มีหน้าที่ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี ฯลฯ” ดังนั้นเมื่อโจทก์มิได้เสียภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด และยังมิได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ทุเลาการเสียภาษีอากรจำเลยที่ 8 ในฐานะนายอำเภอย่อมมีอำนาจที่จะสั่งยึดทรัพย์สินของโจทก์ เพื่อให้ได้รับชำระค่าภาษีอากรค้างได้ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าเมื่อมีการอุทธรณ์การประเมินและขอทุเลาการเสียภาษีอากรต่ออธิบดีกรมสรรพากร แม้จะล่วงพ้นกำหนดเวลาชำระภาษีอากร แล้วก็ให้นายอำเภองดการใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 เพื่อรอฟังคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรก่อนการที่จะงดหรือไม่งดจึงอยู่ในดุลพินิจของนายอำเภอ เพียงแต่นายอำเภอจะต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจมิให้ขัดกับคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งจะมีมาในภายหลังเฉพาะคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากจำเลยที่ 8 สั่งยึดทรัพย์สินของโจทก์แล้วต่อมาอธิบดีกรมสรรพากรก็มีคำสั่งไม่อนุมัติให้ทุเลาการเสียภาษีอากร จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะอ้างว่าจำเลยที่ 8 สั่งยึดทรัพย์สินของโจทก์โดยไม่ชอบ

เมื่อวินิจฉัยว่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 3 ประเมินและแจ้งการประเมินไปยังโจทก์เป็นภาษีอากรค้างซึ่งจำเลยที่ 8 มีอำนาจสั่งยึดทรัพย์สินของโจทก์เพื่อให้ได้รับชำระค่าภาษีอากร โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดเพิกถอนประกาศยึดทรัพย์และใช้ค่าเสียหาย ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ไม่มีภาษีอากรค้างและไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีอากรแก่จำเลยตามที่ประเมินนั้น ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ปัญหาดังกล่าวอยู่ในระหว่างการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว โจทก์จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) โจทก์ยังไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาล คดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share