คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหานั้นก็เพื่อประสงค์ให้ผู้ต้องหาทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด และเพื่อให้ผู้ต้องหาเข้าใจถึงการกระทำของผู้ต้องหาซึ่งเป็นความผิดนั้น โดยไม่ต้องระบุอ้างถึงตัวบทกฎหมายที่ผู้ต้องหากระทำผิด ในกรณีที่การกระทำอันหนึ่งผิดกฎหมายหลายบท พนักงานสอบสวนไม่จำต้องระบุถึงกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตรา ในเมื่อได้แจ้งข้อหาอันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้ว ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่า จำเลยพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้วแม้ไม่แจ้งข้อหาว่าพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตด้วย ก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91,289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ และสั่งริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนตามฟ้องไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปฏิเสธความผิดฐานอื่น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคแรก ให้จำคุก2 ปี จำเลยรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปถนนทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ลงโทษปรับ 100 บาท รวมโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 100 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 กำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งหาแก่ผู้ต้องนั้นก็เพื่อประสงค์ให้ผู้ต้องหาทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดและเพื่อให้ผู้ต้องหาเข้าใจถึงการกระทำของผู้ต้องหาซึ่งเป็นความผิดนั้น โดยไม่ต้องระบุอ้างถึงตัวบทกฎหมายที่ผู้ต้องหากระทำผิด ในกรณีที่การกระทำอันหนึ่งผิดกฎหมายหลายบท พนักงานสอบสวนไม่จำต้องระบุถึงกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตราในเมื่อได้แจ้งข้อหาอันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้วไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ คดีนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่าจำเลยพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่าพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานนี้แล้วพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 เมื่อศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำเลยจึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคสอง ด้วย ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคสองด้วยอีกบทหนึ่ง เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 6 เดือน และเมื่อรวมกับโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคแรกซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลย 1 ปีแล้ว รวมจำคุกจำเลย 1 ปี6 เดือน นอกจากที่แก้ไขเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share