คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3746/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อ ไปทำงานในต่างประเทศเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน จัดหางานกลาง และมาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า จัดหางาน หมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหา ลูกจ้างให้แก่นายจ้าง โดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทน หรือไม่ก็ตาม ฉะนั้นการจะเป็นผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายดังกล่าวได้ผู้นั้นต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางานเสียก่อน นอกจากไม่ปรากฏว่าจำเลยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คน หางาน หรือประกอบธุรกิจจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างแล้วจำเลยก็ยังมิได้มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่คนหางานหรือจัดหา ลูกจ้างอย่างจริงจัง แต่จำเลยกับพวกอ้างการจัดหางานเพื่อ เป็นเหตุหลอกลวง จ. ให้ไปรับจ้างขายบริการทางเพศโดยหวังจะได้ประโยชน์ตามสัญญากู้เงิน ดังนั้น เมื่อ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ที่ใช้อยู่ในขณะ ที่จำเลยกระทำการดังกล่าวข้างต้นมิได้บัญญัติไว้ว่าเรื่องนี้เป็นความผิด และกรณีแตกต่างจากพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มาตรา 34ที่ให้เพิ่มมาตรา 91 ตรี ซึ่งบัญญัติเอาผิดแก่ผู้ที่หลอกลวง ผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นจากผู้ถูกหลอกลวงต้องระวางโทษ แต่พระราชบัญญัติ (ฉบับที่ 2) ดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 มิถุนายน 2537) ด้วยเหตุนี้การกระทำของจำเลยแม้จะได้พูดจาชักชวน ส.หรือ จ.ให้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น หรือไม่ก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างต้นเดือนตุลาคม 2535 เวลากลางวันถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2536 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางได้จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยเข้าติดต่อ ชักชวนจัดหางานให้แก่นางสาวจันทนา สวนดอน ซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานเลี้ยงเด็กที่ประเทศญี่ปุ่น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 จำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นางสาวจันทนา สวนดอน บุตรสาวของนางสุมาลีคำนันทน์ ได้ถูกชักชวนให้เดินทางไปทำงานรับจ้างเลี้ยงเด็กที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ครั้นไปถึงประเทศญี่ปุ่นปรากฏว่านายจ้างในประเทศญี่ปุ่นบังคับให้นางสาวจันทนารับจ้างให้บริการทางเพศ(ขายตัว) และข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปว่า จำเลยเป็นผู้ไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางให้เป็นผู้จัดหางานแก่คนหางาน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งข้อนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้บังอาจจัดหางานให้คนหางาน อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30 และมาตรา 30และมาตรา 82 โดยมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าห้ามมิให้ผู้ใดจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางและมาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าจัดหางาน หมายความว่า ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง โดยจะเรียกหรือรับค่าบริการตอบแทนหรือไม่ก็ตาม ฉะนั้น การจะเป็นผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้จะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน แต่เรื่องนี้ตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลย ความไม่ปรากฏว่า จำเลยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางาน หรือประกอบธุรกิจจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง จะมีก็แต่เฉพาะนางสาวจันทนารายเดียวเท่านั้น ดังนั้น การกระทำของจำเลยนอกจากจะไม่ต้องด้วยคำจำกัดความของคำว่า จัดหางาน แล้วยังมิได้มีเจตนาจะจัดหางานให้แก่คนหางาน หรือจัดหาลูกจ้างให้แก่นายจ้างอย่างจริงจังแต่น่าจะเป็นเรื่องที่จำเลยกับพวกอ้างการจัดหางานเพื่อเป็นเหตุหลอกลวงนางสาวจันทนาให้ไปรับจ้างขายบริการทางเพศหรือขายตัวเสียมากกว่า โดยหวังจะได้ประโยชน์ตามสัญญากู้เงินอันอาจจะเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นแต่ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528ที่ใช้อยู่ในขณะที่จำเลยกระทำการมิได้บัญญัติไว้ว่าเรื่องนี้เป็นความผิด แตกต่างจากพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537 มาตรา 34 ให้เพิ่มมาตรา 91 ตรี ซึ่งบัญญัติในทำนองว่า ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษโดยพระราชบัญญัติ (ฉบับที่ 2)นี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30มิถุนายน 2537) ด้วยเหตุนี้การกระทำของจำเลยแม้จะได้พูดจาชักชวนนางสุมาลีหรือนางสาวจันทนาให้ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ก็ตาม การกระทำของจำเลยก็หาเป็นความผิดตามฟ้องไม่
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share