คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญากู้ยืมจำเลยที่1มีหน้าที่จะต้องชำระดอกเบี้ยของเงินกู้ที่เบิกไปจากโจทก์ทุกวันทำการสิ้นเดือนของทุกเดือนหากผิดนัดชำระเงินงวดหนึ่งงวดใดถือว่าจำเลยที่1ผิดนัดในจำนวนหนี้ทั้งหมดโดยหนี้ทั้งหมดตามสัญญาเป็นอันถึงกำหนดชำระทันทีโดยโจทก์ไม่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนปรากฏว่าจำเลยที่1ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไม่ตรงตามกำหนดในสัญญากู้ยืมแต่โจทก์ยอมรับชำระดอกเบี้ยของจำเลยที่1โดยไม่ได้ทักท้วงว่าจำเลยที่1ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดสัญญาพฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยที่1ปฏิบัติต่อกันโดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเป็นสาระสำคัญจึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่1ต่างระงับข้อสัญญาเกี่ยวกับการชำระดอกเบี้ยล่าช้าเป็นการผิดนัดผิดสัญญาแล้ว แต่ต่อมาเมื่อจำเลยที่1ยังมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โจทก์จึงได้มีหนังสือขอให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองโดยจำเลยที่1ในฐานะผู้กู้และผู้จำนองจำเลยที่2และที่3ในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน30วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวจึงเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปด้วยในคราวเดียวกันแล้วเมื่อจำเลยที่1ค้างชำระดอกเบี้ยและโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่1ชำระหนี้ดังกล่าวครบกำหนดแล้วจำเลยที่1เพิกเฉยต้องถือว่าจำเลยที่1ผิดนัดผิดสัญญาในจำนวนหนี้ทั้งหมดและโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ตามสัญญากู้จำเลยที่1ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ13ต่อปีและอาจเปลี่ยนแปลงได้บวกด้วยอัตราร้อยละ1ต่อปีและหากจำเลยที่1ผิดนัดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจำเลยที่1ยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดตามที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปรากฏว่าตามประกาศดังกล่าวเรียกได้ไม่เกินอัตราร้อยละ21ต่อปีดังนี้เมื่อจำเลยที่1เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่1ตามจำนวนเงินกู้หลังจากที่ผิดสัญญาได้ในอัตราร้อยละ21ต่อปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน20,006,931.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 17,034,294 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 99933 และ 99934 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน17,997,818.10 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีของต้นเงิน 17,034,294 บาท นับแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2536เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองโดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 99933 และ 99934 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ และจำเลยทั้งสามจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงใด ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องชำระดอกเบี้ยของเงินกู้ที่เบิกไปจากโจทก์ทุกวันทำการสิ้นเดือนของทุกเดือน หากผิดนัดชำระเงินงวดหนึ่งงวดใดตามสัญญากู้ยืมเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ข้อ 6 ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดในจำนวนหนี้ทั้งหมดโดยหนี้ทั้งหมดตามสัญญาเป็นอันถึงกำหนดชำระทันทีโดยโจทก์ไม่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ไม่ตรงตามกำหนดในสัญญากู้ยืมแต่ชำระห่างกัน4 เดือนบ้าง 2 เดือนบ้าง แต่โจทก์ก็ยอมรับการชำระหนี้โดยไม่ได้ทักท้วง ทั้งออกใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมายล.1 ถึง ล.12 และได้ความจากนายพรชัย กีรติพงศ์ภักดีผู้รับมอบอำนาจโจทก์ตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามค้านว่าจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยครั้งละ 2 เดือนก็มี ครั้งละ 3 เดือนก็มีโจทก์ไม่ได้ว่าอะไร เพราะโจทก์ผ่อนผันให้ ดังนี้แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับชำระดอกเบี้ยของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ทักท้วงว่าจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดสัญญา พฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อกันโดยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเป็นสาระสำคัญ จึงถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างระงับข้อสัญญาเกี่ยวกับการชำระดอกเบี้ยล่าช้าเป็นการผิดนัดผิดสัญญาตามเอกสารหมาย จ.9 จ.10 ข้อ 3 และข้อ 6 ดังกล่าวแล้วแต่อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2536 ซึ่งนำไปหักชำระดอกเบี้ยได้วันที่17 พฤษภาคม 2536 เมื่อหักแล้วจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมจนถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2536 ฉบับแรกเป็นเงิน455,166.50 บาทฉบับที่สองเป็นเงิน 508,357.40 บาท ส่วนต้นเงินกู้ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 เบิกไปจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.19 ขอให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนอง โดยจำเลยที่ 1ในฐานะผู้กู้และผู้จำนอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าว จึงเป็นที่เห็นได้ว่าหนังสือเอกสารหมาย จ.19 เป็นหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปด้วยในคราวเดียวกันครั้นครบกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 เพิกเฉยต้องถือว่าจำเลยที่ 1ผิดนัดผิดสัญญาในจำนวนหนี้ทั้งหมดตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.9และ จ.10 ข้อ 6 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์
สำหรับปัญหาในประการต่อมาที่ว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงใดนั้น ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนและข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ต้นเงินโจทก์อยู่ตามจำนวนเงินที่เบิกไปตามสัญญากู้ฉบับแรกจำนวน 8,279,913 บาทฉบับที่สองจำนวน 8,754,381 บาท ส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1จะต้องชำระหลังจากที่ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์นั้น เห็นว่าตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ข้อ 2.1ข. จำเลยที่ 1ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ขณะทำสัญญาอัตราร้อยละ 13 ต่อปีและอาจเปลี่ยนแปลงได้บวกด้วยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และหากจำเลยที่ 1ผิดนัดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ข้อ 6 จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดตามที่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตามประกาศเอกสารหมาย จ.6 เรียกได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 21 ต่อปี เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามจำนวนเงินกู้หลังจากที่ผิดสัญญาได้ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share