แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 20 ที่ 32 ถึงที่ 38 ที่ 48 ที่ 50 ถึงที่ 53 ฟ้องคดีเดิมและทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น โจทก์รู้อยู่แล้วว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการปรับปรุงมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างสำหรับลูกจ้างระดับผู้ปฏิบัติงานโดยให้ผู้ที่ปฏิบัติงานก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 15 ปีขึ้นไป ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2544 เป็นต้นไป แต่โจทก์ ก็ยังสมัครใจทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน และตกลง “ไม่เรียกร้องใด ๆ อีก” จึงหมายความว่าจะไม่เรียกร้องอื่นใดอีกซึ่งรวมถึงเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 60 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรีที่จะได้รับเพิ่มขึ้นเมื่อมีการดำเนินการตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ต่อไปจนเสร็จสิ้นแล้วด้วย อันเป็นการตกลงระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นในอนาคต ประกอบกับการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมเกิดขึ้นหลังจากโจทก์ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุแล้ว จึงมีอิสระแก่ตนพ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องในเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่เป็นโมฆะ สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจึงมีผลใช้บังคับ ดังนั้นการเรียกร้องในเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 60 วัน จึงระงับสิ้นไป
ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 วรรคสอง เป็นการบัญญัติถึงวิธีปฏิบัติในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ว่าให้อยู่ภายใต้การให้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนและกำหนดว่ามาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างนั้นใช้บังคับแก่ผู้ใด ไม่ได้บัญญัติถึงว่ามาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างจะมีผลใช้บังคับเมื่อใด ดังนั้นมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างจะมีผลใช้บังคับเมื่อใดจึงขึ้นอยู่กับประกาศของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดตามวรรคหนึ่ง
ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในคดีเดิมวินิจฉัยว่า จนถึงเวลาเสร็จการพิจารณาในคดีเดิมสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจยังคงอยู่ภายใต้ระเบียบมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 โจทก์ (คดีเดิม) จึงมีสิทธิได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ไม่ใช่ 240 วัน มีผลเท่ากับศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาว่า โจทก์ (คดีเดิม) ยังไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินส่วนนี้ในคดีเดิม ต่อมาเมื่อประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 มีผลใช้บังคับแล้วและความในประกาศมีผลถึงโจทก์คดีเดิมด้วย โจทก์ที่ 21 ถึงที่ 30 ที่ 39 ถึงที่ 47 (ที่เคยเป็นโจทก์ใน
คดีเดิม) ซึ่งมีอำนาจฟ้องตามประกาศฉบับหลังจึงฟ้องเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
ย่อยาว
คดีทั้งห้าสิบเอ็ดสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณากับคดีหมายเลขแดงที่ 945/2547, 1382/2547, 1383/2547 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลแรงงานกลางให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 54 ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ที่ 31 ที่ 49 และที่ 54 ขอถอนฟ้องศาลแรงงานกลางอนุญาต คดีจึงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเพียง 51 สำนวน คือคดีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 30 ที่ 32 ถึงที่ 48 และที่ 50 ถึงที่ 53
โจทก์ทั้งห้าสิบเอ็ดสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานส่วนที่ยังขาดอยู่ตามคำขอบังคับท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน
จำเลยทุกสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกัน คู่ความไม่ติดใจสืบพยาน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานการใช้แรงงานหญิง การหักเงินเดือนค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด และการรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานมีผลเป็นกฎหมายนับแต่วันที่ประกาศใช้บังคับในวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 โดยเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 ดังนั้น ลูกจ้างที่มีตำแหน่งตามที่ระบุไว้สามารถเรียกเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตรา 240 วัน จึงเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ได้มีอยู่เดิมในขณะฟ้องคดีเดิมหรือก่อนศาลมีคำพิพากษา เมื่อสิทธิเรียกร้องเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานส่วนที่เพิ่มขึ้น 60 วัน เป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว โจทก์แต่ละคนจึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินดังกล่าวได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และไม่เป็นฟ้องซ้ำ พิพากษาให้โจทก์แต่ละคนยกเว้นโจทก์ที่ 31 ที่ 49 และที่ 54 มีสิทธิเรียกเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามบัญชีแนบท้ายคำพิพากษาของศาลแรงงานพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 20 ที่ 35 ที่ 41 ถึงที่ 54 (ที่ถูกโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 20 ที่ 32 ถึงที่ 38 ที่ 48 และที่ 50 ถึงที่ 53) ซึ่งทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยในคดีเดิมโดยยอมรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน 180 วัน และจะไม่เรียกร้องเงินอื่นใดอีก มีผลให้การเรียกร้องเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเพิ่มขึ้นอีก 60 วัน ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างว่าด้วยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การใช้แรงงานหญิง การหักเงินเดือนค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด และการรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ระงับไปหรือไม่ เห็นว่า ในคดีเดิมโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 20 ที่ 32 ถึงที่ 38 ที่ 48 และที่ 50 ถึงที่ 53 ฟ้องเรียกเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามระเบียบของจำเลยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน และเรียกเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเพิ่มขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2544 เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 60 วัน ต่อมาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 20 ที่ 32 ถึงที่ 38 ที่ 48 และที่ 50 ถึงที่ 53 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย โดยยอมรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน และศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอม ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 20 ที่ 32 ถึงที่ 38 ที่ 48 และที่ 50 ถึงที่ 53 ตกลง “ไม่เรียกร้องใด ๆ อีก” ในขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 20 ที่ 32 ถึงที่ 38 ที่ 48 และที่ 50 ถึงที่ 53 ฟ้องคดีเดิมและทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น โจทก์รู้อยู่แล้วว่าคณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าวอนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีการปรับปรุงมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างสำหรับลูกจ้างระดับผู้ปฏิบัติงานโดยให้ผู้ที่ปฏิบัติงานก่อนเกษียณอายุติดต่อกันครบ 15 ปีขึ้นไปได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2544 เป็นต้นไป (เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการเสนอของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 20 ที่ 32 ถึงที่ 38 ที่ 48 และที่ 50 ถึงที่ 53 ก็ยังสมัครใจทำสัญญาประนีประนอมยอมความยอมรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน และตกลง “ไม่เรียกร้องใด ๆ อีก” จึงหมายความว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 20 ที่ 32 ถึงที่ 38 ที่ 48 และที่ 50 ถึงที่ 53 จะไม่เรียกร้องอื่นใดอีกซึ่งรวมถึงเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 60 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรีที่จะได้รับเพิ่มขึ้นเมื่อมีการดำเนินการตาม พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ต่อไปจนเสร็จสิ้นแล้วด้วย อันเป็นการตกลงระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นในอนาคตตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ประกอบกับการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีเดิมเกิดขึ้นหลังจากโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 20 ที่ 32 ถึงที่ 38 ที่ 48 และที่ 50 ถึงที่ 53 ออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุแล้ว จึงมีอิสระแก่ตนพ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยโดยสิ้นเชิงการสละสิทธิเรียกร้องในเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน ย่อมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่เป็นโมฆะ สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจึงมีผลใช้บังคับ ดังนั้น การเรียกร้องในเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 60 วัน จึงระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 ส่วนกรณีโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลางลงวันที่ 15 มิถุนายน 2547 ว่าโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ฟ้องคดีเดิมเรียกเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบของจำเลยเท่านั้น ต่อมาโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยยอมรับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน และศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอม ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่าโจทก์ที่ 5 และที่ 6 ตกลง “ไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ อีก” ซึ่งเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานไม่ใช่ค่าเสียหาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 5 และที่ 6 สละสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าว ดังนั้นสิทธิในการเรียกร้องเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 60 วัน ของโจทก์ที่ 5 และที่ 6 จึงไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาวินิจฉัยประการที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์ที่ 21 ถึงที่ 34 ที่ 36 ถึงที่ 40 (ที่ถูกโจทก์ที่ 21 ถึงที่ 30 และที่ 39 ถึงที่ 47) ในคดีนี้ที่เรียกเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 60 วัน ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 เป็นฟ้องซ้ำกับคดีเดิมหรือไม่ เห็นว่า ที่ พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ตาม (1) ในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง และวรรคสอง บัญญัติให้มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างตาม (1) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วให้ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจทุกแห่งนั้น ตามวรรคสองเป็นการบัญญัติถึงวิธีปฏิบัติในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ว่าให้อยู่ภายใต้การให้ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนและกำหนดว่ามาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างนั้นใช้บังคับแก่ผู้ใดไม่ได้บัญญัติถึงว่ามาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างจะมีผลใช้บังคับเมื่อใด ดังนั้น มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างจะมีผลใช้บังคับเมื่อใดจึงขึ้นอยู่กับประกาศของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดตามวรรคหนึ่ง โจทก์ในคดีเดิมฟ้องเรียกเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 60 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2544 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการประกาศใช้ประกาศของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ฉบับลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 ในเรื่องเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน สิทธิในเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานที่เพิ่มขึ้นอีกเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายอีก 60 วัน ยังไม่เกิด ที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในคดีเดิมวินิจฉัยว่าจนถึงเวลาเสร็จการพิจารณาในคดีเดิม สิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจยังคงอยู่ภายใต้ระเบียบมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 โจทก์ (คดีเดิม) จึงมีสิทธิได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน (6 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย) ไม่ใช่ 240 วัน มีผลเท่ากับศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาว่าโจทก์ที่ 21 ถึงที่ 30 และที่ 39 ถึงที่ 47 ยังไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินส่วนนี้ในคดีเดิม เมื่อประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 มีผลใช้บังคับแล้วและความในประกาศมีผลถึงโจทก์ที่ 21 ถึงที่ 30 และที่ 39 ถึงที่ 47 ด้วย โจทก์ที่ 21 ถึงที่ 30 และที่ 39 ถึงที่ 47 ซึ่งมีอำนาจฟ้องตามประกาศดังกล่าวจึงฟ้องเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 ถึงที่ 20 ที่ 32 ถึงที่ 38 ที่ 48 และที่ 50 ถึงที่ 53 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.