คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3735/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผู้ซื้อผิดสัญญาซื้อขายไม่ชำระราคารถยนต์ตามกำหนดและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้จำเลยใช้เงินที่ขาดจำนวนตามสัญญาซื้อขายหลังจากที่ขายรถยนต์ให้แก่ผู้อื่นแล้วจำนวนหนึ่ง กับค่าขาดประโยชน์ที่จะให้บุคคลอื่นเช่าซื้อรถยนต์อีกจำนวนหนึ่ง เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลจากการเลิกสัญญา ไม่ใช่ค่าส่งมอบของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) และกรณีเช่นนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติในเรื่องอายุความไว้เป็นพิเศษจึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
คำให้การขอจำเลยที่ 2 ที่ต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลหรือไม่ โจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีหรือไม่ ไม่ทราบ ไม่รับรองหนังสือรับรองนิติบุคคลและใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดี จำเลยปฏิเสธ นั้น เป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น หรือแต่บางส่วนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรสอง ถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธ จึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาซื้อขายผ่อนส่งรถยนต์ไปจากโจทก์โดยผ่อนชำระราคาเป็นรายเดือน ถ้าผิดนัดถือว่าผิดสัญญา จำเลยที่ ๑ ต้องนำรถส่งคืนโจทก์ในสภาพดี ส่วนเงินที่ชำระแล้วโจทก์ไม่ต้องคืน จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยผิดนัด โจทก์ทวงถามและบอกเลิกสัญญาแล้ว เมื่อโจทก์ได้รับรถคืนได้ขายให้แก่ผู้อื่นขาดทุน ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินเท่าจำนวนที่ขายขาดทุนค่าขาดประโยชน์จากการให้ผู้อื่นเช่าซื้อ และค่ารถที่ยังผ่อนชำระไม่ครบ พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาก็ได้รับรถคืนไปแล้ว และค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ ๑ ชำระไปแล้วเพียงพอแก่ความเสียหายของโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓๔,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ฎีกาข้อแรกว่าการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องในกรณีเช่นนี้เท่ากับโจทก์อยู่ในฐานะเป็นพ่อค้าเรียกเอาค่าส่งมอบของจึงต้องฟ้องบังคับเสียภายใน ๒ ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๑) เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเลยกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวจึงต้องถือว่าคดีโจทก์ขาดอายุความสำหรับปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาซื้อขายและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จึงขอให้จำเลยใช้เงินที่ขาดจำนวนตามสัญญาซื้อขายหลังจากที่ขายรถยนต์ให้แก่ผู้อื่นแล้วเป็นเงิน ๔๖,๔๗๓ บาท กับค่าขาดประโยชน์ที่จะให้บุคคลอื่นเช่าซื้อรถยนต์เป็นเวลา ๑๙ เดือน เป็นเงิน ๓๘,๐๐๐ บาท เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวนี้เห็นได้ว่าเป็นค่าเสียหายที่เป็นผลจากการเลิกสัญญาหาใช่ค่าส่งมอบของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๑) ดังที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาไม่ ซึ่งกรณีเช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติในเรื่องอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องถืออายุความ ๑๐ ปี อันเป็นบทบัญญัติทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
สำหรับปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ให้การว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลหรือไม่ ไม่ทราบ ไม่รับรอง โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสมศักดิ์ กิจปราโมทย์ ฟ้องคดีหรือไม่ ไม่ทราบ ไม่รับรอง หนังสือรับรองนิติบุคคล และใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดี จำเลยปฏิเสธ เห็นว่าเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสอง ถือไม่ได้ว่าจำเลย ให้การปฏิเสธจึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share