แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย แม้โจทก์จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการรับบุคคลภายนอกเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยก็ตามแต่การที่โจทก์เรียกและรับเงินจากผู้สมัครเข้าทำงานเป็น ลูกจ้างของจำเลยทำให้เห็นได้ว่าโจทก์อาศัยตำแหน่งความเป็น ลูกจ้างของจำเลยไปแอบอ้างผลประโยชน์จากบุคคลภายนอก ทำให้ บุคคลภายนอกเข้าใจว่าการเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย จะต้องมีการวิ่งเต้นเสียเงินตอบแทน ทำให้จำเลยเสื่อมเสีย ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับ ความเสียหาย ทั้งถือได้ว่าเป็นการประพฤติผิดข้อบังคับเกี่ยวกับ การทำงานของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้าง โจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้าง โดยไม่เป็นธรรม และจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตลอดจนเงิน บำเหน็จและดอกเบี้ยแก่โจทก์อีกด้วย ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 และข้อบังคับเกี่ยวกับ การทำงานของจำเลยว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2536อ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดวินัยร่วมกับผู้อื่นรับสินจ้างนำบุคคลเข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าหน่วยผลิตโซดา แผนกโซดาและน้ำดื่ม ทำหน้าที่ควบคุมการผลิต ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,750 บาทเงินค่าครองชีพเดือนละ 965 บาท รวมเป็นค่าจ้าง 10,715 บาทการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ปัจจุบันโจทก์อายุ 35 ปี มีความรู้ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีภริยาและบุตร 2 คน การเลิกจ้างโจทก์ทำให้โจทก์ขาดรายได้ในการเลี้ยงดูภริยาและบุตรซึ่งอยู่ในระหว่าง การศึกษาจึงขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะเลิกจ้าง และให้ชดใช้เงินค่าเสียหายให้โจทก์อัตราเดือนละ 10,750 บาท นับแต่วันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนกว่าจำเลยจะรับกลับเข้าทำงาน หากเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันได้อีกต่อไป โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงินเท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ได้รับจากจำเลยจนเกษียณอายุรวมเป็นเงิน3,215,500 บาท นอกจากนี้จำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับเงินบำเหน็จที่ต้องจ่ายให้แก่พนักงานลูกจ้างที่ออกจากงานโดยไม่มีความผิดในอัตราเดือนสุดท้ายกับค่าครองชีพคูณด้วยระยะเวลาทำงาน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินจำนวน 107,150 บาท การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์มิได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงขอคิดสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงิน 10,715 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด โจทก์จึงขอเรียกเงินค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้าง 180 วันสุดท้ายเป็นเงิน 64,290 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์เรียกจากจำเลยทั้งสิ้น 3,396,655 บาท และขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ถูกเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเนื่องจากโจทก์ได้ร่วมมือกับพนักงานประจำหน่วยทะเบียนประวัติ และพนักงานแผนกอื่นหลายคนกระทำการโดยทุจริตในการรับบุคคลเข้าเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของจำเลยโดยการเรียกและรับเงินจากผู้อื่นเป็นค่าตอบแทน จากการสอบสวนของจำเลยโจทก์ให้การรับว่าได้รับเงินจากการนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นลูกจ้างของจำเลยจริง จึงเป็นการกระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่และจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของบริษัทจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อที่ 10.1.7 และ 10.1.9 และการกระทำของโจทก์ยังเป็นการผิดสัญญาของผู้เป็นลูกจ้างฉบับลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535ที่ให้ไว้แก่จำเลย จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่โจทก์ทั้งนี้ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพแรงงาน ฉบับลงวันที่ 23กันยายน 2521 และประกาศแก้ไขอัตราบำเหน็จพิเศษฉบับลงวันที่ 23กันยายน 2535 และ ถ้าหากจำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ก็จ่ายโดยคำนวณจากเงินเดือน เดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานไม่ใช่คำนวณจากเงินเดือนบวกกับค่าครองชีพตามที่โจทก์กล่าวอ้าง การกระทำผิดของโจทก์ จำเลยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์ที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา ถือได้ว่าโจทก์มิได้ประพฤติชั่วและโจทก์ไม่ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ไม่ได้จงใจทำให้จำเลยเสียหายไม่ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จและดอกเบี้ยนั้น ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยผลิตโซดาแผนกโซดา และเครื่องดื่ม มีหน้าที่ควบคุมการผลิตโซดา จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยเนื่องจากโจทก์ร่วมกับพวกหลายคนรับเงินจากนายพรชัยและนายวันชัยในการที่บุคคลทั้งสองสมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย เห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย แม้โจทก์จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการรับบุคคลภายนอกเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยก็ตามแต่การที่โจทก์เรียกและรับเงินจากนายพรชัยกับนายวันชัยผู้สมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย ทำให้เห็นได้ว่าโจทก์อาศัยตำแหน่งความเป็นลูกจ้างของจำเลยไปแอบอ้างผลประโยชน์จากบุคคลภายนอก ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจว่าการเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยจะต้องมีการวิ่งเต้นเสียเงินตอบแทนทำให้จำเลยเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายทั้งถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและยังถือได้ว่าเป็นการประพฤติผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตลอดจนเงินบำเหน็จและดอกเบี้ยแก่โจทก์อีกด้วยทั้งนี้ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัย ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน